EU Datenschutz-Grundverordnung (DSGVO) คืออะไร? (ตอน 3)

รูปภาพ

เดือนหน้าก็จะมีฟุตบอลโลกแล้ว รูปภาพจากบรรยากาศขอบสนามของบรรดาแฟน ๆ ที่ลงตามสื่อต่าง ๆ จะเป็นในลักษณะนี้ไหม? คือเบลอหน้าตาของคนที่ปรากฏอยู่ในรูปภาพ

ประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับรูปภาพยังมีความไม่แน่นอน โดยระเบียบอียูฯ ได้เปิดช่องทางให้ประเทศสมาชิกอียูพิจารณานำระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปบังคับใช้ให้สอดคล้องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพทางความคิดเห็นและเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในด้านสื่อมวลชน งานวิชาการ ด้านศิลปะและวรรณกรรม

แต่รัฐบาลเยอรมันไม่ได้ขยับตัวเรื่องนี้เลย ที่ผ่านมามีเพียงประเทศสวีเดนเท่านั้นที่ได้ผ่านร่างกฎหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า “หากระเบียบอียูว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลอื่น ๆ ขัดต่อเสรีภาพสื่อและเสรีภาพด้านความคิด ถือว่าระเบียบอียูฯ และกฎหมายคุ้มครองบุคคลอื่น ๆ นั้น ไม่มีผลบังคับใช้”

เพราะเยอรมนีไม่ขยับ คือไม่มีนโยบายคัดค้าน “ระเบียบอียูว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เยอรมนีจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบอียูฯ นี้  ซึ่งถือว่ารูปภาพที่เห็นภาพบุคคลชัดเจนเป็นหนึ่งในข้อมูลส่วนบุคคล เพราะจากรูปภาพจะเห็นหน้าตาของบุคคล เพศ สามารถประเมินอายุได้ และอาจสามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้มาตรา 9 ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองพิเศษก็ได้ โดยไม่อนุญาตให้ถ่าย จัดเก็บ และ นำไปใช้แต่อย่างใด

ทำไมอาจสามารถจัดรูปภาพให้อยู่ในกลุ่มข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ?

เพราะรูปภาพของบุคคลสามารถบ่งบอกเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ได้ นอกจากนี้แล้ว สภาพแวดล้อมที่บุคคลนั้นปรากฏในรูปภาพสามารถบ่งบอกถึง ความคิดทางการเมือง (เช่น รูปภาพบุคคลระหว่างขึ้นพูดให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง) ความเชื่อทางศาสนา (เช่น รูปภาพบุคคลในชุดที่บ่งบอกการเป็นนักบวช) การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน (เช่น รูปภาพบุคคลระหว่างการเดินขบวนหรือประท้วง) ด้านสุขภาพ (เช่น รูปภาพบุคคลระหว่างการขนย้ายโดยเครื่องมือช่วยเหลือคนพิการ) ไปจนถึงวิถีชีวิตทางเพศ (เช่น รูปภาพจากงานพาเหรดของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน)

ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป การถ่ายรูปบุคคลโดยระบบดิจิตัลและการนำรูปภาพไปเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายบนท้องถนน ถ่ายจากงานแข่งขันกีฬา ถ่ายจากงานแสดงดนตรี ถ่ายจากงานแต่งงาน และถ่ายจากทุกสถานที่ทุกเวลา ที่ถ่ายรูปบุคคลทั้งตั้งใจและโดยไม่ตั้งใจ และถึงแม้จะนำรูปภาพไปเผยแพร่โดยไม่ปรากฏชื่อบุคคลนั้นก็ตาม ถือว่ารูปภาพนั้นมีข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ „ระเบียบอียูว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล“

โดยระเบียบฯ ยกเว้นรูปภาพต่อไปนี้

  • รูปภาพถ่ายโดยช่างภาพอาชีพของสื่อต่าง ๆ เพื่อนำลงเผยแพร่ในกรอบกฎหมายสื่อ
  • รูปภาพอนาล็อก
  • รูปภาพส่วนตัวภายในครอบครัว หากไม่นำลงเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต
  • รูปภาพคนเสียชีวิต

เทคโนโลยีถ่ายภาพในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะ กล้องดิจิตัล สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์สมาร์ทที่ใกล้เคียงอื่น ๆ เทคโนโลยีถ่ายภาพเหล่านี้ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพอย่างเดียว แต่ยังบันทึกข้อมูลอื่น ๆ ระหว่างการถ่ายภาพด้วย เช่น วันเวลา สถานที่ถ่ายภาพโดยใช้ GPS เป็นตัวรับสัญญาณ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้อ่านได้จากค่า EXIF  (Exchangeable Image Files Format) ซึ่งเป็นค่าต่าง ๆ ของรูปภาพที่ถ่ายโดยกล้องดิจิตัล

ยังไม่ต้องถึงขั้นตอนการนำรูปภาพไปเผยแพร่ แค่การที่จะยกกล้องขึ้นถ่ายรูปบุคคลก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นกระบวนการการเก็บข้อมูลแล้ว เพราะฉะนั้น ทั้งการจะเริ่มยกกล้องถ่ายรูปและการจะนำรูปถ่ายไปเผยแพร่จึงจะต้องได้รับคำยินยอมจากบุคคลที่ปรากฏบนรูปภาพก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่จะต้องไปขอคำยินยอมจากบุคคลทุกคนที่ปรากฏในรูปภาพนั้น จึงเกิดประเด็นความไม่แน่นอนของกฎหมายในเรื่องนี้

นักกฎหมายจึงแนะนำบรรดาช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นว่า

  • การที่บุคคลที่ถูกถ่ายรูปยิ้มไม่ได้หมายความว่าเขาให้คำยินยอม
  • ถ้าบนรูปภาพปรากฏแค่บุคคลเพียงคนเดียว ก็ต้องไปขอคำยินยอมจากบุคคลนั้นหรือถ้าการนำรูปภาพไปใช้เป็นไปตามที่ระเบียบฯ กำหนด (ดูตอน 1) ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามนี้ ก็ถือว่าเสี่ยง
  • บุคคลทุกคนที่จะถูกถ่ายรูปต้องได้รับคำอธิบายอย่างละเอียดว่าจะเอารูปภาพไปใช้ในการใด
  • ขอคำยินยอมอย่างถาวรจากบุคคลที่ปรากฏบนรูปภาพ
  • หากบุคคลในรูปภาพยกเลิกคำยินยอม จะต้องลบหรือทำลายรูปภาพที่เกี่ยวข้องทันที และต้องมีหลักฐานบันทึกการลบหรือการทำลาย เพราะบุคคลในรูปภาพมีสิทธิขอข้อมูลเต็มที่
  • หากเป็นไปได้ ควรถ่ายรูปบุคคลที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระเบียบฯ กำหนดเท่านั้น หรือควรถ่ายไม่ให้ติดบุคคลใด ๆ เลย

สำหรับเราชาวโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ก็ให้ระมัดระวังการถ่ายรูปตามสถานที่และโอกาสต่าง ๆ ว่าจะไปถ่ายติดใครมาบ้าง ถ้าเผลอไผลไปถ่ายติดใครมาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หากต้องการนำรูปภาพนั้นมาโพสต์ตามโซเชียลมีเดียหรือส่งต่อไปให้ใคร ก็ต้องรู้ว่าเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนระเบียบอียูฯ นี้ ซึ่งกำหนดโทษปรับไว้ค่อนข้างสูงทีเดียว

และไม่ต้องกังวลว่า รูปภาพตามสื่อ ๆ ต่างจะต้องเบลอหน้าคนที่อยู่ในรูปทำให้เสียอารมณ์ หรือกลัวจะไม่เห็นรูปภาพมัน ๆ จากงานฟุตบอลโลกที่ใกล้จะถึงนี้ เพราะถ้าเป็นรูปภาพที่ถ่ายโดยช่างภาพมืออาชีพประจำสื่อต่าง ๆ แล้ว จะได้รับยกเว้นจากระเบียบอียูฯ นี้


อ้างอิง

Photo credit: alliance (aus der Webseite https://www.cicero.de)