มาตรการเยียวยาของอียู

แต่ละประเทศในอียูต่างก็ประสบวิกฤติไวรัสโคโรนากันถ้วนหน้า ที่หนักกว่าใครเพื่อนคืออิตาลีจนต้องปิดประเทศก่อนใครเพื่อน เพราะว่าเป็นสหภาพเดียวกัน ประเทศสมาชิกที่ประสบวิกฤติไวรัสโคโรนาที่มีปัญหาการเงินมาโดยตลอดต่างก็หวังพึ่งความช่วยเหลือจากสหภาพ  โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางใต้ (Südländer) นำโดยอิตาลี ฝรั่งเศส และ สเปน ตามธรรมเนียมและเพื่อความเป็นเอกภาพแล้ว อียูในมวลรวมมีนโยบายช่วยเหลือกันและกันอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร วิกฤติโคโรนานี้กระทบกับทุกประเทศแบบภาษาชาวบ้านว่าอย่างจัง กระทบกันไปทั่วโลก ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ว่าจะสาหัสขนาดไหน

ในเมื่อต่างคนต่างกำลังบอบช้ำ ปฏิกิริยาธรรมชาติแรกคือควรต้องพยายามรักษาและถนอมตัวเองเอาไว้ก่อน

อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ร่วมกันเรียกร้องความช่วยเหลือด้านการเงินจากอียูโดยขอให้อียูจัดตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้โคโรนา (Corona Bonds) โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แต่กลุ่มประเทศสมาชิกที่เรียกว่าประเทศทางเหนือ (Nordländer)  ประกอบด้วยเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และออสเตรีย ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ เพราะว่าอียูมีกลไกช่วยเหลืออยู่แล้ว สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้ทันที ทันเหตุการณ์วิกฤติโคโรนา มาดูกันว่าอียูสามารถใช้กลไกและมาตรการเยียวยาอะไรได้บ้าง

 

กลไกรักษาเสถียรภาพอียู European Stability Mechanism (ESM)

จัดตั้งขึ้นมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกเขตสกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) ที่ประสบวิกฤติหนี้สาธารณะไม่ให้ล้มละลาย เช่น โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ไซปรัส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรีซ ประเทศสมาชิกยูโรโซนสามารถกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ โดยมีเงื่อนไขคือต้องมีวินัยการคลังและมีมาตราการรัดเข็มขัดทางการคลัง และที่สำคัญคือต้องปฏิรูปประเทศตัวเองไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะอีก สำหรับวิกฤติโคโรนานี้ สามารถนำกลไก ESM มาใช้ได้ทันที โดยอาจปรับเงื่อนไขหรือยกเลิกเงื่อนไขก็ได้ ซึ่งกลุ่มประเทศทางเหนือและประเทศสมาชิกอื่น ๆ เห็นด้วยกับการใช้กลไกนี้

ปัจจุบันกลไกรักษาเสถียรภาพอียูมีเงินทุนจำนวน 410 พันล้านยูโร ประเทศสมาชิกยูโรโซนสามารถกู้ได้ในจำนวนร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของตัวเอง และหลังจากวิกฤติผ่านไป ต้องชำระเงินคืน ซึ่งกลุ่มประเทศทางใต้ เช่น อิตาลีสามารถกู้ได้ประมาณ 39 พันล้านยูโร หรือสเปนสามารถกู้ได้ประมาณ 28 พันล้านยูโร แต่กลุ่มประเทศทางใต้ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นกองทุนคนละวัตถุประสงค์กันและจำนวนกู้เพียงร้อยละ 2 คงไม่พอแน่

 

ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (EIB)

ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรปสามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศสมาชิกในวงเงินรวมจำนวน 200 พันล้านยูโร โดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกต้องรับประกันสินเชื่อ การให้สินเชื่อของ EIB เปิดให้กับสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ แตกต่างจากกลไกหรือกองทุนรักษาเสถียรภาพอียู (ESM) ซึ่งเปิดให้เฉพาะประเทศสมาชิกยุโรโซน 19 ประเทศเท่านั้น

สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศกรีซ อิตาลี โปรตุเกส เบลเยียม ฝรั่งเศส สเปน ไซปรัส โครเอเชีย ออสเตรีย ฮังการี สโลวีเนีย ไอร์แลนด์ เยอรมนี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สโลวาเกีย โปแลนด์ มอลตา ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สวีเดน เดนมาร์ก เช็ก บัลแกเรีย ลักเซมเบิร์ก เอสโตเนีย
สมาชิกเขตสกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) 19 ประเทศกรีซ อิตาลี โปรตุเกส เบลเยียม ฝรั่งเศส สเปน ไซปรัส ออสเตรีย สโลวีเนีย ไอร์แลนด์ เยอรมนี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สโลวาเกีย มอลตา ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก เอสโตเนีย

 

โครงการสนับสนุนพนักงานที่สูญเสียรายได้จากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง SURE (Support mitigating Unemployment Risks in Emergency)

คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถจัดหาทุนในวงเงิน 100 พันล้านยูโรมาเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับบริษัทที่ปรับลดจำนวนการทำงานของบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถจ้างพนักงานต่อไปโดยไม่ต้องให้พนักงานออกจากงาน (คล้ายกับมาตรการ Kurzarbeitergeld ของเยอรมนี แต่ของเยอรมนีเงิน Kurzarbeitergeld คล้ายกับเงินตกงาน บริษัทไม่ต้องจ่ายคืน)

 

กองทุนรวมตราสารหนี้โคโรนา (Corona Bonds)

กองทุนรวมตราสารหนี้โคโรนาเป็นกลไกหรือมาตรการเยียวยาที่อียูกำลังถกกันอยู่ ยังสรุปไม่ได้แม้ว่าเมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกจะถกกันนานมาราธอนถึง 16 ชั่วโมงก็ตาม และได้เลื่อนการเจรจาไปเป็นวันพฤหัสฯ ที่ 9 เมษายน นี้

กองทุนรวมตราสารหนี้โคโรนาหรือกองทุนตราสารหนี้ร่วมกันของอียู มีแนวคิดว่าประเทศสมาชิกอียูทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นสมาชิกที่มีเงินมากหรือมีเงินน้อยออกตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่และรับประกันร่วมกัน จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสำหรับประเทศสมาชิกที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้วลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศทางใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน หรือ เบลเยียม แต่ประเทศสมาชิกทางเหนือที่มีเศรษฐกิจมั่นคงและดีกว่าอย่างเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ หรือ ออสเตรีย ต่างก็ไม่เห็นด้วย เพราะต้องมาร่วมรับผิดชอบหนี้โดยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายคลังของประเทศที่กู้แต่อย่างใด กลุ่มประเทศทางใต้ให้เหตุผลว่า Corona Bonds ไม่เกี่ยวกับหนี้เก่า แต่เป็นแหล่งเงินใหม่สำหรับเยียวยาวิกฤติโคโรนา เป็นวาระพิเศษครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น

ประเด็น Corona Bonds นี้ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ในเยอรมนีมีความเห็นแตกต่างกัน เช่น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรปไลบ์นีซ Leibniz-Zentrum für Europäische Wirtschaftsforschung (ZEW) เห็นว่าการจัดตั้ง Corona Bonds ยิ่งจะทำให้ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้วมีโอกาสเข้าหาแหล่งเงินใหม่ได้ยากขึ้น เพราะอาจส่งสัญญาณต่อสาธารณะได้ว่าประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาสภาพคล่อง การใช้กลไก ESM โดยกำหนดระยะเวลาในห้วงวิกฤติชั่วคราวนี้เหมาะสมพอ แต่ในระยะยาวนั้นอียูต้องมองหามาตรการหรือกลไกอื่นที่จะแก้ปัญหาคลังของประเทศสมาชิกได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากกวานี้

ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมัน Institut der Deutschen Wirtschaft มองว่า Corona Bonds ไม่ใช่โครงสร้างการเงินใหม่ เป็นเพียงเครื่องมือในยามวิกฤติพิเศษเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น กลไก ESM เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์อื่นคือเกิดจากวิกฤติคลังและมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับธนาคาร  หากอียูไม่ช่วยกันและจีนหรือรัสเซียยื่นมือเข้ามาช่วยอิตาลีแทน อียูจะถูกมองว่าอย่างไร ในวิกฤติเช่นนี้สมาชิกอียูที่แข็งแรงกว่าควรช่วยสมาชิกที่อ่อนแอกว่า เพื่อแสดงเอกภาพและการร่วมชะตาเดียวกันตามที่ปฏิญาณกันไว้

สำหรับอิตาลี Corona Bonds กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว นายกฯ Giuseppe Conte แถลงว่ารัฐบาลมีนโยบายเยียวยาโดยจะจัดงบประมาณจำนวน 400 พันล้านยูโร สำหรับเยียวยาตลาดภายในประเทศและการส่งออกคนละครึ่ง โดยต้องอาศัยมาตรการ Corona Bonds แบบไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น เพราะเห็นว่าสมเหตุสมผลมากกว่า นายกฯ Giuseppe Conte ปฏิเสธกลไก  ESM โดยสิ้นเชิง

 

แผนมาร์แชลล์สำหรับฟื้นฟูอียู

ประธานกรรมาธิการยุโรป นาง Ursula von der Leyen (อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเยน) ได้เสนอไอเดียแผนมาร์แชลล์ฟื้นฟูยุโรปตามตัวอย่างแผนมาร์แชลล์ฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ยุโรปตะวันตกสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ (หมายเหตุ: แผนมาร์แชลล์เป็นโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแก่ยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกตามชื่อนายพล จอร์จ แคตเลตต์ มาร์แชลล์) โดยอียูควรวางแผนลงทุนขนานใหญ่ใน 7 ปีหน้า เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งนี้ทั้งนั้นสมาชิกทุกประเทศต้องมาตกลงกันว่าแต่ละประเทศจะจ่ายเงินจำนวนเท่าใดเข้าคลังกลางอียูและจะเอาเงินนี้ไปทำอะไรบ้าง ซึ่งการเจรจาเกี่ยวกับแผนการนี้ก็ยังไม่ไปถึงไหนเลย

 

หนี้สาธารณะในอียู

ปิดท้ายด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะในอียู: จากตัวเลขหนี้สาธารณะของประทศสมาชิกอียู สมาชิกแต่ละประเทศต่างก็มีหนี้สาธารณะมากน้อยแตกต่างกันไป โดยประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูง 5 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศทางใต้ ไม่ว่าอียูจะตกลงมาตรการใดก็ตาม ท้ายสุดแล้วหลายประเทศจำต้องหาเงินมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโคโรนา โดยการสร้างภาระหนี้สาธารณะเพิ่มซึ่งประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ

 

  สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2019
(%)
หนี้สาธารณะ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2019
(พันล้านยูโร)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2019
(พันล้านยูโร)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2019 ต่อหัว (ยูโร)
ยูโรโซน86.134770
อียู80.131080
1กรีซ178.2334.26187.4617500
2อิตาลี137.32439.251787.6629610
3โปรตุเกส120.5252.28212.320660
4เบลเยียม102.3480.78473.6441240
5ฝรั่งเศส100.52415.072419.036060
6สเปน97.91207.761245.3326440
7ไซปรัส97.821.2921.9424920
8โครเอเชีย74.940.0553.9412620
9ออสเตรีย71.1281.43398.5244900
10ฮังการี68.293.00143.8314720
11สโลวีเนีย68.132.3948.0122980
12ไอร์แลนด์62.6212.94347.2270470
13เยอรมนี61.22086.583435.7641340
14ฟินแลนด์59.4142.77240.0843480
15เนเธอร์แลนด์49.3394.92812.0546820
16สโลวาเกีย48.445.0694.1817270
17โปแลนด์47.4240.92527.0313730
18มอลตา43.15.6113.2126350
19ลัตเวีย36.411.0330.4815930
20ลิทัวเนีย35.911.1148.3417310
21โรมาเนีย35.475.98222.0911440
22สวีเดน35.1163.43474.6846180
23เดนมาร์ก34.1104.99310.9453430
24เช็ก32.069.08220.2020640
25บัลแกเรีย20.612.2860.688680
26ลักเซมเบิร์ก20.212.6163.52102200
27เอสโตเนีย9.22.5528.0421160

ที่มาของข้อมูลในตาราง: de.statista.com (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี ค.ศ. 2019 ของบางประเทศยังเป็นตัวเลขประมาณการ)


อ้างอิง

Photo: © AFP / THOMAS SAMSON (ภาพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส Bruno Le Maire กับทีมระหว่างการเจรจาผ่าน video conference เมื่อคืนวันที่ 7 เมษายน 2563)