ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ในภาวะวิกฤติขณะนี้ เราดีใจที่รัฐบาลตัดสินใจอะไรโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงเป็นหลักและอาศัยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ แม้ว่าในคณะรัฐบาลจะมีผู้จบการศึกษาสูงอย่างนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ซึ่งจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ หรือ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โอลาฟ ชอลซ์ ผู้จบด้านกฎหมาย ผู้บริหารเหล่านี้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องบริหารบ้านเมืองตามตำแหน่งที่รับผิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจบด้านการธนาคารก็ไม่ใช่ว่าไม่น่าเชื่อถือ แต่ในภาวะวิกฤตสาธารณสุขอย่างการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ฝ่ายการเมืองจะต้องไม่โอหังยึดติดกับอำนาจของตัวเองฝ่ายเดียว จะต้องยอมรับฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลมีสถาบันโรเบิร์ต คอค เป็นศูนย์วิชาการด้านการแพร่ระบาดให้กับรัฐบาลและเป็นผู้ประเมินและรายงานสถานการณ์มาโดยตลอด โดยสำนักวิชาการอื่น ๆ ต่างก็เคารพและไม่ก้าวก่ายงานของสถาบันโรเบิร์ต คอค แต่อย่างใด นอกจากจะมีนักวิชาการอื่น ๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นบ้างตามวาระ สถาบันโรเบิร์ต คอค เองได้รับคำตำหนิในหลายเรื่อง เช่น ระบบการแจ้งข้อมูลจำนวนติดเชื้อซึ่งไม่สามารถให้ข้อมูลผู้ติดเชื้ออย่างแน่ชัด และการคาดการณ์ผิดพลาด เป็นต้น แต่ก็พอเข้าใจและแก้ตัวได้ว่าเพราะสถานการณ์การแพร่กระบาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเก็บและแจ้งข้อมูลอาจล่าช้า แต่อย่างน้อยข้อมูลที่เก็บได้ก็พอให้ภาพได้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ เรายืนอยู่ ณ ประมาณจุดใด
ในระหว่างที่สถาบันฯ ทำงานของตัวเองไปนั้น คณะบัณฑิตแห่งชาติ “Leopoldina” (เลโอโพลดีนา) ได้แสดงความคิดเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาซึ่งสอดคล้องกับของสถาบันโรเบิร์ต คอค เป็นส่วนใหญ่ โดยได้แถลงความคิดเห็นเฉพาะกิจ (Ad-hoc-Stellungnahme) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 (จำนวน 3 หน้า) สรุปความว่า
คำแถลงความคิดเห็นเฉพาะกิจครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563
มาตรการที่รัฐบาลเยอรมันและแต่ละรัฐนำมาใช้เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วนและเหมาะสมกับการคุกคามที่เกิดจากการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ โดยมาตรการดังกล่าวมีลักษณะตรีลักษณ์ (Dreiklang) คือ
ก) การยับยั้งการแพร่ระบาด
ข) ป้องกันกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง และ
ค) เพิ่มความสามารถของระบบสาธารณสุขมวลชนและระบบการรักษาพยาบาลอย่างมีเป้าหมาย
ประสิทธิภาพและความจำเป็นของมาตรการบางส่วนนั้นสามารถยืนยันได้โดยหลักวิชาการ แต่บางมาตรการตั้งอยู่บนพื้นฐานการการประมาณค่านอกช่วง (Hochrechnung) และการประเมินด้านการเมือง รัฐต้องจัดให้การพัฒนายาและวัคซีนป้องกันเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด โดยต้องคำนึงถึงจริยธรรมด้านการแพทย์ คณะ Leopodina จะสนับสนุนการปรับและการสร้างกรอบมาตรการและจะคอยติดตามโดยจะติดต่อแลกเปลี่ยนกับคณะนักวิชาการนานาชาติอย่างใกล้ชิด
คำแถลงความคิดเห็นเฉพาะกิจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563
สำหรับคำแถลงความคิดเห็นเฉพาะกิจครั้งที่ 2 นี้มี 3 หน้าเช่นกัน คณะ Leopoldina ยังคงคำแนะนำในคำแถลงความคิดเห็นเฉพาะกิจครั้งแรกไว้อยู่ โดยเพิ่มเติมความคิดเห็นมุ่งเป้าหมายไปที่มาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติทีละขั้น มี 3 มาตรการสำคัญคือ
1) การใช้หน้ากากป้องกันปากและจมูกอย่างทั่วถึง การใส่หน้ากากช่วยป้องกันการแพร่ระบาดผ่านเกล็ดละอองของสารคัดหลั่ง เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเคลื่อนไหวไปมาในพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก การใส่หน้ากากช่วยป้องกันผู้อื่น ลดการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อของตัวเองไปในตัวด้วย
2) การใช้ mobile data ชั่วคราว เพื่อเก็บข้อมูลการติดต่อของผู้คนในพื้นที่ทั้งในรูปสถานที่และเวลา จะช่วยตามหาผู้ติดเชื้อและผู้ที่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อดังกล่าวได้ง่ายขึ้น ดังนั้นควรพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น App ขึ้นมาให้ประชาชนได้ใช้ด้วยความสมัครใจและจะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลด้วย การให้ข้อมูลของประชาชนต้องเป็นแบบนิรนาม ข้อมูลที่ได้นี้สำคัญมากสำหรับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงได้รับทราบ แต่จะต้องกำหนดการเก็บข้อมูลไว้ใช้อย่างชัดเจนก่อนจะลบข้อมูลออกจากระบบ เช่น สูงสุดไม่เกิน 4 สัปดาห์
3) การเพิ่มความสามารถในการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา ปัจจุบันเยอรมนีได้เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจมากกว่า 350,000 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ควรเพิ่มให้มากขึ้นโดยการใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว เพื่อขยายการตรวจให้ได้วงกว้างขึ้น จะได้ตีกรอบศูนย์กลางของการแพร่ระบาดได้ดีขึ้นและออกมาตรการกักตัวได้เหมาะเจาะ อาจจะดึงห้องปฏิบัติการทางสัตว์แพทย์และสถานวิจัยอื่น ๆ ให้มามีส่วนร่วมเป็นการชั่วคราวเพื่อเพิ่มกำลังในการตรวจ นอกจากนี้ควรมีการตรวจการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างการตรวจสอบนี้ให้ระบบและควรเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจการสร้างภูมิคุ้มกันเช่นกัน
จากคำแถลงความคิดเห็นทั้งสองครั้งของคณะ Leopoldina จะเห็นว่ารัฐบาลน่าจะรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำของคณะ Leopoldina (เช่น ดึงห้องปฏิบัติการทางสัตว์แพทย์มาช่วยตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา) สถาบันโรเบิร์ต คอค ก็มีมาตรการที่คล้ายคลึงกัน อาจจะเป็นเพราะว่ามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการกันและกันหรือท้ายสุดในทางวิชาการแล้ว ความคิดเห็นของแต่ละหมู่คณะจะออกมาในแนวทางเดียวกัน เช่น สถาบันฯ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 เมษายน ว่าจะทำการวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันของกลุ่มคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา
สำหรับคำแถลงความคิดเห็นครั้งที่ 3 หลายฝ่ายต่างก็รอคอย เพราะนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ได้บอกอย่างชัดเจนแล้วว่าความคิดเห็นของคณะ Leopoldina สำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะผ่อนปรนมาตรการหรือไม่อย่างไร และเมื่อวันที่ 13 เมษายน คณะ Leopoldina ได้ออกคำแถลงความคิดเห็นเฉพาะกิจครั้งที่ 3 (จำนวน 19 หน้า)
คำแถลงความคิดเห็นเฉพาะกิจครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 สรุปได้ตามประเด็นต่อไปนี้
ปรับปรุงองค์ประกอบของการตัดสินใจ: ที่ผ่านมานั้นการใช้ข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยพิจารณาอาการเป็นหลักให้ภาพสถานการณ์การแพร่ระบาดบิดเบี้ยว ควรปรับปรุงการเก็บข้อมูลการติดเชื้อและการสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชนที่สามารถอ้างอิงได้ และนำข้อมูลที่เก็บได้นี้ไปปรับใช้กับการสร้างแบบโมเดลแสดงการพัฒนาของการแพร่ระบาด การแพร่ระบาดที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและกระจายไปทุกพื้นที่ต้องการการเฝ้าระวังทั้งด้านพื้นที่และด้านเวลาอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้คาดการณ์ระยะสั้นได้แม่นยำขึ้น และสามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจได้และขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบได้ด้วย มาตรการ “Shutdown” ที่มีอยู่ในปัจจุบันบางส่วนเกิดจากความเข้าใจโดยที่ไม่มีงานวิจัยหรืองานวิชาการรองรับ ในระหว่างที่หวังจะได้เวลาจาการการใช้มาตรการเพื่อชะลอการแพร่ระบาดดังกล่าว ควรใช้เวลาที่ได้มานี้ตรวจสอบมาตรการดังกล่าวด้วยการวิจัยเชิงประจักษ์ ประเมินเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่จะได้รับ และควรปรับปรุงมาตรการอย่างไร
การประเมินความเสี่ยงโดยการเปรียบเทียบกับโรคอื่น: ข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีนั้น (เช่น อัตราการตาย การพัฒนาอาการของโรคอย่างรุนแรง) ต้องนำมาเปรียบเทียบกับโรคชนิดอื่น โดยแสดงให้เห็นภาพอัตราเสี่ยงการตายแบ่งตามอายุและของแต่ละบุคคลตามความเป็นจริง รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากสถานการณ์ที่ระบบสาธารณสุขอาจรับมือไม่ไหวและความเสี่ยงจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจกับการรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น
บรรเทาผลกระทบทางจิตวิทยาและสังคม: ประชาชนจะยอมรับและปฏิบัติตามมาตรการหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแรงจูงใจจากภายในที่ตระหนักรู้ถึงการป้องกันตัวเองและการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ไม่ใช่เพราะถูกขู่บังคับโดยการลงโทษ และรัฐจะต้องมีมาตรการสำหรับการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจนและกำหนดเวลาที่สมเหตุผล เพื่อทุกฝ่ายจะได้วางแผนและจัดการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และยังจะช่วยลดและบรรเทาผลกระทบด้านจิตใจและด้านร่างกายจากความเครียดในปัจจุบัน นอกจากนี้จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดในขณะนี้ เช่น เด็กและผู้เยาว์ในครอบครัวที่มีปัญหา หรือ คนที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง
การชั่งน้ำหนักการตัดสินใจโดยพิจารณาปัจจัยรอบด้าน: มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อป้องกันชีวิตและสุขภาพนั้นทำให้เกิดข้อจำกัดกับสิทธิอื่น ซึ่งการจำกัดสิทธิอื่นนี้จะต้องได้รับการพิจารณาและตรวจสอบว่าได้สัดส่วนหรือไม่ และต้องนำผลลัพธ์ที่ไม่ได้คาดหวังหรือที่ไม่ต้องการให้เกิดมาร่วมพิจารณาด้วย ถึงจะทำให้การชั่งนำหนักการตัดสินใจเรื่องที่ซับซ้อนอย่างวิกฤติไวรัสโคโรนามีความชัดเจน ฝ่ายการเมืองต้องยอมรับว่าวิกฤติไวรัสโคโรนาซับซ้อนมีหลายมิติ ต้องพิจารณาวิกฤตินี้ทั้งจากมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบและของผู้ได้รับอันตรายกลุ่มต่าง ๆ และจะต้องเปิดเผยกระบวนการชั่งน้ำหนักต่าง ๆ พร้อมกับสื่อสารออกไปยังสาธารณะ ที่สำคัญคือจะต้องไม่ให้เกิดการแบ่งแยกประชาชนเฉพาะกลุ่ม เช่น การป้องกันผู้สูงอายุโดยการใช้อำนาจรัฐสั่งแทนการตัดสินใจของผู้สูงอายุเอง
เปิดสถานศึกษาทีละขั้น: วิกฤติไวรัสโคโรนาทำให้เกิดภาวะถดถอยอย่างหนักในวงการศึกษาและทำให้เกิดความเหลี่ยมล้ำในสังคมรุนแรงขึ้น ดังนั้นควรเปิดโรงเรียนโดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการยกเลิกข้อจำกัดและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อใหม่ในคราวเดียวกัน เนื่องจากเด็กเล็กต้องการการดูแล คำแนะนำ และการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ควรเปิดโรงเรียนประถมและโรงเรียนระดับมัธยมต้นเป็นอันดับแรกก่อน การเรียนทางไกลจะเป็นแบบดิจิตอลหรืออนาลอกสามารถใช้กับเด็กโตได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นเด็กโตควรจะกลับไปเรียนตามปกติทีหลัง หากเป็นไปได้ก็ควรจัดให้มีการสอบตามปกติ เด็กที่เรียนรู้ช้าควรได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อลดความเสียเปรียบ อย่างไรก็ดี เด็กเล็ก ๆ รักษาระยะห่างไม่ค่อยได้และไม่น่าจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันได้ดีเท่าที่ควร แต่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้ จึงควรมีข้อจำกัดในการเปิดโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับดูแลเด็กรายวัน
ทำชีวิตประจำวันให้กลับมาเป็นปกติทีละขั้น: ให้ประชาชนกลับใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ต้องทำทีละขั้น ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ ก) การติดเชื้อใหม่คงที่อยู่ที่จำนวนต่ำ ข) เพิ่มจำนวนเตียงสำรองที่จำเป็นตามโรงพยาบาล และจะต้องกลับมารับรักษาผู้ป่วยโรคอื่นตามปกติ ค) ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่มีอยู่อย่างมีวินัย (เช่น มาตรการสุขอนามัย การป้องกันปากและจมูก การเว้นระยะห่าง การตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น) ถ้าหากเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ ในเบื้องต้นควรให้ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร หน่วยงานราชการและห้างร้านที่ให้บริการ เปิดบริการได้ การเดินทางด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเพื่อทำงานควรทำได้ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ควรกำหนดให้ใส่หน้ากากในบางพื้นที่เป็นมาตรการเพิ่มเติม เช่น ในรถขนส่งมวลชน ในลำดับต่อไป ค่อย ๆ อนุญาตให้จัดกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมวัฒนธรรมและกิจกรรมกีฬาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ในการรักษาระยะห่างและความเข้มข้นของการสัมผัสกัน และจำเป็นต้องคอยเฝ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
ใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพ: ระหว่างภาวะวิกฤตินี้ รัฐบาลต้องออกนโยบายเศรษฐกิจและการเงินช่วยเหลือเป็นการชั่วคราว เช่น การทำงานระยะสั้น ช่วยเหลือสภาพคล่อง เลื่อนเวลาการจ่ายภาษี และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อลดการล้มละลายของบริษัท การเข้าไปร่วมหุ้นกับบริษัทเอกชนเพื่อรักษาเสถียรภาพของบริษัทควรทำในกรณีที่จำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น หลังจากภาวะวิกฤติผ่านไปแล้ว รัฐบาลต้องมีนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลาง ในแง่ของรายได้รัฐ เช่น ลดหย่อนภาษี หรือ ยกเว้นการเก็บภาษีช่วยเหลือการพัฒนาเยอรมันตะวันออกบางส่วนหรือทั้งหมดก่อนกำหนด ในแง่ของรายจ่ายรัฐ เช่น เพิ่มงบประมาณของการลงทุนของรัฐ อาทิในระบบสาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภคดิจิตอล และการป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น วิกฤติในครั้งนี้ต้องการมาตรการร่วมระดับอียู แนวทางแก้ไขวิกฤติร่วมกันควรต้องประกอบด้วยการรับประกันสภาพคล่องโดยธนาคารกลางยุโรป การช่วยเหลือทางการเงินจากคลังกลางอียูและธนาคารเพื่อการลงทุนอียู รวมถึงมาตรการสินเชื่อตามเงื่อนไขของสภาวะการแพร่ระบาดของกลไกสร้างเสถียรภาพในอียู
กำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน: ปัญหาและความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาการสูญพันธุ์ ไม่ได้หายไปไหนระหว่างวิกฤติไวรัสโคโรนานี้ มาตรการทางการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติควรคำนึงถึงหลักความยั่งยืนทางนิเวศวิทยาและทางสังคม คำนึงว่าเหมาะสม สอดคล้อง และอยู่ร่วมกับอนาคตได้หรือไม่ และสามารถทำให้เกิดการฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้หรือไม่ มาตรการที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาการอย่างกว้างขวางและมีมาก่อนวิกฤติไวรัสโคโรนาแล้วไม่ควรถูกปรับให้อ่อนลงและจะต้องนำมาปฏิบัติด้วยความสำคัญยิ่งยวดหรืออาจปรับให้มีความเข้มข้นขึ้นก็ได้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรต้องมีเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบาย “กรีนดีล” (Green Deal) ของอียูเป็นพื้นฐานสำคัญ
ยึดนโยบายเศรษฐกิจตามกลไกตลาด (ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด): รัฐบาลต้องนำมาตรการทางเศรษฐกิจตามกรอบของกลไกการตลาดกลับมาใช้แทนมาตรการทางเศรษฐกิจระหว่างวิกฤติไวรัสโคโรนาที่รัฐบาลอาจสามารถปรับปรุงให้เข้ากับสภาวะปกติได้ เช่น ถอนหุ้นส่วนออกจากบริษัทในกรณีที่รัฐบาลเข้าไปอุ้มโดยการร่วมทุน และการลดภาระหนี้สาธารณะ รัฐบาลต้องยึดกลไกการลดภาระหนี้ (เบรกหนี้) ตามกรอบกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งอนุญาตให้รัฐสร้างหนี้เพิ่มได้ในภาวะจำเป็นเช่นภาวะวิกฤติไวรัสโคโรนานี้ และกำหนดให้ต้องลดภาระหนี้หลังจากกลับสู่ภาวะปกติ
สถาบันโรเบิร์ต คอค เห็นแตกต่างดังนี้
- คณะ Leopoldina ไม่ได้พูดถึงตัวเลขสำคัญบางตัวเช่น Reproduktionszahl (reproduction number – RO หรือ R) คือค่าเฉลี่ยความสามารถในการแพร่เชื้อของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยประธานสถาบันโรเบิร์ต คอค ระบุว่าการลดค่า R ให้เหลือต่ำกว่า 1 สำคัญมาก ปัจจุบันเยอรมนีมีค่า R อยู่ที่ประมาณ 1.2 คือเห็นการชะลอตัวของการแพร่ระบาดก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่แนวโน้มที่ชัดเจน ถ้าค่า R ยังไม่ต่ำกว่า 1 ยังเรียกว่ายับยั้งการแพร่ระบาดไม่ได้ นอกจากจะบอกว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี
- โดยรวมแล้วความคิดเห็นของคณะ Leopoldina กับของสถาบันโรเบิร์ต คอค เกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่สถาบันโรเบิร์ต คอค มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเปิดโรงเรียนแตกต่างออกไป โดยเห็นว่าขณะนี้ยังมีการแพร่ระบาดหนักอยู่ ควรจะเปิดโรงเรียนให้เด็กโตก่อน เพราะเด็กโตน่าจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน เช่น รักษาระยะห่าง ได้ดีกว่าเด็กเล็ก
Deutsche Akademie der Naturforscher Leopoldina หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Leopoldina
- ก่อตั้งเมี่อปี ค.ศ. 1652 ที่เมืองชไวร์ฟวร์ท (Schweinfurt) รัฐบาวาเรีย ในชื่อ Academia Naturae Curiosorum
- เมื่อปี ค.ศ. 1687 จักรพรรดิเลโอโพลด์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้แต่งตั้งให้เป็นคณะบัณฑิตของจักรวรรดิ
- ปัจจุบันใช้ชื่อตามจักรพรรดิเลโอโพลด์ที่ 1 ว่า Leopoldina (เลโอโพลดีนา)
- ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1878 เป็นต้นมา สำนักงานของคณะ Leopoldina ตั้งอยู่ที่เมืองฮัลเลอ (Halle) รัฐซัคเซน-อันฮัลท์
- เมื่อปี ค.ศ. 2008 ได้เป็นคณะบัณฑิตแห่งชาติเยอรมัน ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเยอรมันและรัฐบาลรัฐซัคเซน-อันฮัลท์
คณะ Leopoldina มีบทบาทคือให้คำแนะนำด้านวิชาการในหัวข้อที่มีความสำคัญต่อสังคมแก่ผู้ตัดสินใจ เช่น ฝ่ายการเมืองบริหารประเทศ โดยเป็นอิสระจากการเมืองและภาคธุรกิจ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 1,500 คน ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในแต่ละสาขาที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก ในอดีตมีสมาชิก เช่น อัลแบร์ต ไอน์ชไตน์ มารี คูร์รี ชาร์ลส์ ดาร์วิน มาร์ค พลังค์ และ นีลส์ บอห์ร)
อ้างอิง
- Nationale Akademie der Wissenschaften Leopoldina: „Coronavirus-Pandemie in Deutschland: Herausforderungen und Interventionsmöglichkeiten“
- Nationale Akademie der Wissenschaften Leopoldina: „Coronavirus-Pandemie – Gesundheitsrelevante Maßnahmen“
- Nationale Akademie der Wissenschaften Leopoldina: „Coronavirus-Pandemie – Die Krise nachhaltig überwinden“
- Robert-Koch-Instituts Pressekonferenz am 14.04.2020
Photo credit: Markus Scholz für die Leopoldina (ภาพอาคารหลักที่ทำการของคณะ Leopoldina ที่เมืองฮัลเลอ)