ไวรัส COVID-19: ทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีถึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จากที่ได้ติดตามและรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยืนยันโดยผลการตรวจของห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) มาตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งวันที่ 27 กุมภาพันธ์นั้น สถาบันโรเบิร์ต คอค แจ้งว่ามีผู้ติดเชื้อในเยอรมนีจำนวน 53 ราย และจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมีผู้ติดเชื้อจำนวน 78,961 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดในเยอรมนีกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในขณะที่ในจีนกำลังอยู่ในช่วงสูงสุด

จากข้อมูลของ Center for Systems Science and Engineering (CSSE) มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ณ วันนี้  3 เมษายน จีนมีผู้ติดเชื้อจำนวน 82,509 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ข้างต้น จะเห็นว่าการแพร่ระบาดในจีนได้ชะลอตัวลงจนแทบจะไม่มีการแพร่ระบาดอีกแล้ว และเมื่อวันที่ 2 เมษายน สถาบันโรเบิร์ต คอค ได้ประเมินและปรับพื้นที่มีการแพร่ระบาดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยจัดให้จีนไม่เป็นพื้นที่มีการระบาดและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกต่อไป

วันที่ 3 เมษายน ตามข้อมูลของสถาบันโรเบิร์ต คอค เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อ 79,696 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สำนักงานสาธารณสุขของแต่ละรัฐได้แจ้งสถาบันฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (สถาบันฯ หมายเหตุว่าเนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาจเกิดความล่าช้าในการแจ้งข้อมูลได้ และข้อมูลที่แจ้งสถาบันฯ อาจไม่สอดคล้องกับข้อมูลของแต่ละรัฐ) และจากที่ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุขของแต่ละรัฐได้ประกาศแจ้งทางเว็บไซต์ในแต่ละวันนั้น มีผู้ติดเชื้อในทั้ง 16 รัฐ รวม 85,416 ราย ซึ่งต่อไปนี้ผู้เขียนจะยึดตัวเลขที่รวบรวมจากแต่ละรัฐเป็นหลัก

จากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมาจำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (exponential) มาโดยตลอด และผ่านมา 30 วันจนถึงวันที่ 3 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีเพิ่มขึ้น 1,600 กว่าเท่าและแซงล้ำหน้าจีน แม้ว่าในเบื้องแรกแต่ละรัฐจะพยายามหาทางและออกมาตรการชะลอการแพร่ระบาดในรัฐของตัวเองก็ตาม และท้ายสุดในวันที่ 16 มีนาคม รัฐเยอรมันและรัฐบาลแต่ละรัฐได้มีมติตกลงแนวทางร่วมกันทั่วประเทศ แต่ก็เกิดคำถามในหมู่ประชาชนรวมถึงผู้เขียนเองว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อถึงยังเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ในบางวันจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมีจำนวนลดลง ทำให้รู้สึกมีความหวังขึ้นมา แต่บางวันจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว ทำเอาความหวังที่มีหายวับไปกลับตา

กราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันโดยกระทรวงสาธารณะสุขของแต่ละรัฐและที่แจ้งต่อสถาบันโรเบิร์ต คอค
(ถ้าใช้ PC เคลื่อนเมาส์เพื่อดูตัวเลขบนเส้นกราฟ ถ้าใช้แท็บเล็ต/มือถือ ใช้นิ้วสัมผัสบนเส้นกราฟ)

 
วันที่จำนวนผู้ติดเชื้อ
ยืนยันโดยแต่ละรัฐ
เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อที่แจ้งต่อ
สถาบันโรเบิร์ต คอค
เพิ่ม
16.369806012
17.39036205671561144
18.311832279681981042
19.3148042972109992801
20.3192274423139572958
21.3221422915166622705
22.3247822640186101948
23.3287293947226724062
24.3325533824274364764
25.3369144361315544118
26.3426665752365084954
27.3483545688422885780
28.3542385884485826294
25.3586394401525473965
30.3619843345572984751
31.3667174733619134615
1.4706283911673665453
2.4790908462735226156
3.4854166326796966174

ผู้เขียนไม่ใช่นักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญอะไร เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งในเยอรมนีที่ประสบกับวิกฤตินี้เหมือนท่านอื่น ๆ แต่ต้องการรู้คำตอบจึงได้แต่ไปสืบค้นตามอ่านข้อมูลและข่าวจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบและความเป็นไปได้ว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้รัฐบาลจะออกมาตรการหลายอย่างก็ตาม คำตอบที่ได้ไม่ใช่คำตอบแบบกำปั้นทุบมือหรือคำตอบที่ยืนยันโดยการวิจัยโดยตรง แต่เป็นข้อสมมติฐานหรือความคาดหวังหรือความเป็นไปได้ที่ตั้งอยู่บนการประเมินสถานการณ์และจากประสบการณ์และการเก็บข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ละคำตอบและความเป็นได้ทุกอันที่รวบรวมมานี้ให้ความเข้าใจในภาพรวมกว้าง ๆ ต่อข้อสงสัยว่าทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ตารางสรุปการประกาศใช้มาตรการชะลอและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

เริ่ม สัปดาห์ที่ของปี มาตรการ (ไม่ใช่มาตรการทางเภสัชวิทยา)
9 มีนาคม 11 ยกเลิก/ห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน
16 มีนาคม12รัฐบาลเยอรมันและรัฐบาลแต่ละรัฐมีมติตกลงแนวทางร่วมกันในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น ปิดโรงเรียน เป็นต้น
23 มีนาคม 13 งดติดต่อพบปะกัน ห้ามออกจากเคหสถาน

คำตอบ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม สองวันหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการเดียวกันทั่วประเทศ ประธานสถาบันโรเบิร์ต คอค ได้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวตามปกติเกี่ยวสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ในเยอรมนีตอนหนึ่งว่าจะต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์ เท่าระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ เพื่อดูว่ามาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้นั้นจะเห็นผลหรือไม่ สอดคล้องกับความเห็นของนักวิจัยหลายท่าน เช่น Dirk Brockmann และ Benjamin Maier จากมหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ท (Humboldt University, Berlin) ซึ่งวิจัยการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ ที่เปรียบเทียบว่าการหยุดการแพร่ของโรคระบาดใหญ่เหมือนกับการหยุดเรือซึ่งใช้เวลากว่าเรือจะหยุด ถึงแม้ว่าตั้งวันที่ 16-18 มีนาคม จะผ่านมา 2 สัปดาห์แล้ว ก็ยังไม่เห็นผลอะไรชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มวันที่ 2 เมษายน ที่เพิ่มขึ้น 8,462 ราย เพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจากวันที่ 1 เมษายนนั้น ในวันที่ 3 เมษายน ผู้ติดเชื้อเพิ่มมีจำนวน 6,326 น้อยกว่าวันที่ 2 เมษายน – คงต้องรอดูต่อมากกว่า 14 วันว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจะลดลงต่อไปหรือไม่

คำตอบ

หลังจากที่มาตรการมีผลบังคับใช้ สันนิษฐานว่าจะตรวจพบคนติดเชื้อมากขึ้น คือเป็นกลุ่มคนที่ติดเชื้อก่อนวันที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ ถ้ายึดเอาระยะเวลากลางของการฝักตัวของเชื้อคือ 6 วัน จนกว่าจะออกอาการ ก็จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยอาจจะเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวทุก ๆ 3 วัน

คำตอบ

จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่เชื่อว่ามาตรการใช้ได้ผล จึงละเลยและไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ ทำให้เห็นภาพผู้คนออกมาพบปะกันตามสวนสาธารณะหรือเดินสูดอากาศมากกว่าจำนวนที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังมองว่ามาตรการที่ออกมานั้นคือการลิดรอนสิทธิของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ในกรุงเบอร์ลินมีกลุ่มคนออกมาประท้วงในประเด็นนี้อย่างน้อย 2 ครั้งแล้ว) ประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางท่าน (เช่น Prof. Andrea Edenharter มหาวิทยาลัยทางไกลฮาเกน) ก็ออกมาติงว่ามาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้นั้นไม่มีกฎหมายรองรับ กฎหมายป้องกันโรคติดต่อที่แต่ละรัฐอ้างถึงนั้นไม่ได้รับการตีความเพื่อนำมาใช้ในการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กฎหมายป้องกันโรคติดต่อให้อำนาจรัฐใช้มาตรการที่จำเป็นชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้บังคับในเบื้องต้น 2 สัปดาห์นั้นไม่ถือว่าเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันปัญหาด้านกฎหมาย รัฐสภาได้ลงมติด่วนแก้ไขกฎหมายป้องกันโรคติดต่อโดยให้แต่ละรัฐและแต่ละท้องถิ่นมีอำนาจพิจารณาออกมาตรการตามความจำเป็นและเหมาะสมเป็นการชั่วคราวในระหว่างช่วงวิกฤตินี้

การไม่ปฏิบัติตามมาตรการจะด้วยเหตุผลว่าไม่เชื่อในมาตรการหรือด้วยเหตุผลด้านกฎหมายก็ตาม อาจส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

คำตอบ

เนื่องจากผู้ติดเชื้อขยายวงกว้างขึ้น การตามหาผู้ที่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือ Contact-Tracing ลำบากมากขึ้นและใช้เวลามากขึ้น ทำให้ผู้ที่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อมีเวลาเอาเชื้อไปแพร่ต่อ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายไปรับชาวเยอรมันที่ตกค้างในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งชาวเยอรมันที่กลับมาเหล่านี้มีโอกาสนำเชื้อเข้ามาในประเทศด้วย เห็นได้จากตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันจากรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ประเทศอียิปต์ หรือจากที่รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลนสั่งห้ามชาวเยอรมันที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงเข้าสถานที่ เช่น โรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา จะด้วยความประมาทหรือจงใจก็ตาม หากฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิดทางอาญา เพราะสันนิษฐานว่าชาวเยอรมันที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงอาจนำเชื้อเขามาด้วย แม้หลายท้องที่จะกำหนดให้ผู้ที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัวในบ้านเป็นเวลา 14 วัน จะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่าในพวกที่ไม่มีอาการอาจจะมีคนดื้อรั้นไม่ใส่ใจต่อมาตรการก็เป็นได้

คำตอบ

คำนิยามของผู้ติดเชื้อมีส่วนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันนี้เรารู้จักเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่น้อยมาก เหมือนกำลังคลำทางกันอยู่ทุกที่ เพราะยังขาดองค์ความรู้ การนิยามอาการของโรคจึงนิยามให้ครอบคลุมอาการที่ใกล้เคียงด้วย แม้จะตรวจไม่เจอเชื้อก็ตาม เมื่อวันที่ 24 มีนาคม สถาบันโรเบิร์ต คอค ได้ปรับเพิ่มนิยามโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาใหม่โดยนอกจากจะพิจารณาจากสภาพพยาธิของโรคและผลการตรวจโดยห้องปฏิบัติการแล้ว ยังพิจารณาการยืนยันด้านระบาดวิทยา ซึ่งในกรณีท้ายสุดคือ ในผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลหรือบ้านพักคนชราหรือเนิร์สซิ่งโฮม ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือสงสัยว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ตรวจไม่พบเชื้อ ก็ให้ถือว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19

คำตอบ

การตรวจเชื้อโดยห้องปฏิบัติการมีความสำคัญมากต่อการจัดการโรคระบาดใหญ่ หนึ่งคือเพื่อตรวจหาและวินิจฉัยโรคอย่างชัดเจน และสองคือผลการตรวจจะเป็นข้อมูลให้วิเคราะห์การพัฒนาของการแพร่ระบาดและหาแนวทางและมาตรการในการชะลอและป้องกันการแพร่ระบาดในลำดับต่อไปได้

ตรวจน้อยเจอน้อย ตรวจมากเจอมาก: ยิ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ระบบสาธารณสุขพร้อม เครือข่ายเทคนิคการแพทย์พร้อม ก็ยิ่งมีความพร้อมจะตรวจได้จำนวนมาก ยิ่งตรวจสอบได้จำนวนมาก ก็จะยิ่งตรวจพบการติดเชื้อมากไปด้วย จนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ทางรัฐบาลเยอรมันเองมีความคิดว่าควรเพิ่มจำนวนการตรวจให้มากขึ้น เพื่อจะได้เห็นตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยชัดเจน โดยมีแผนการจะให้ห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์ศาสตร์มีส่วนร่วมในการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแนะนำว่าควรเพิ่มการตรวจกับคนที่สงสัยเองว่าตัวเองอาจติดเชื้อ และตรวจทุกคนที่อยู่ในวงวานของผู้ที่ได้สัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ และเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ประชาชนควรเป็นผู้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากลำคอหรือโพรงจมูกด้วยตัวเอง โดยให้ดูตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่มีการตรวจเชื้ออย่างทั่วถึง ทำให้สามารถกักคนป่วยติดเชื้อไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ และสามารถชะลอการแพร่ระบาดโดยประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่สมาพันธ์แพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐไม่คิดว่าจะเพิ่มจำนวนการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างทั่วถึงเช่นในเกาหลีใต้ได้ เพราะเยอรมนีขาดบุคลากรและไม่มีห้องปฏิบัติการเพียงพอ ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลดำเนินนโยบายประหยัดกับทางการแพทย์มาโดยตลอด ในภาวะวิกฤตินี้รัฐบาลจึงเหมือนเจอการเอาคืน

สถาบันโรเบิร์ต คอค ได้รวบรวมข้อมูลการตรวจผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาโดยห้องปฏิบัติการผ่านหลายช่องทาง หนึ่งให้ห้องปฏิบัติการตอบแบบสอบถามออนไลน์ สองผ่านเครือข่ายเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และสามผ่านสมาพันธ์ห้องปฏิบัติการที่ได้รับใบอนุญาต โดยห้องปฏิบัติการแจ้งข้อมูลการตรวจให้สถาบันฯ ทราบรายสัปดาห์ สรุปได้ตามตารางด้านล่างนี้

ตารางแสดงความสามารถในการการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2563)

สัปดาห์ที่ของปี ค.ศ. 2020 จำนวนตรวจ (ครั้ง)จำนวนผลตรวจเป็นบวกติดเชื้อ (ครั้ง)จำนวนห้องปฏิบัติการที่ให้ข้อมูล
ถึงสัปดาห์ที่ 10
(2-8 มีนาคม)
87,8632,763
(คิดเป็น 3.14 %)
48
สัปดาห์ที่ 11
(9-15 มีนาคม)
127,457 7,582
(คิดเป็น 5.9 %)
114
สัปดาห์ที่ 12
(16-22 มีนาคม)
348,619 23,820
(คิดเป็น 6.8 %)
152
สัปดาห์ที่ 13
(23-29 มีนาคม)
354,521 30,741
(คิดเป็น 8.7 %)
143

โดยตั้งแต่เริ่มตรวจหาเชื้อจนถึงสัปดาห์ที่ 13 (23-29 มีนาคม) ได้มีการตรวจเชื้อทั้งหมด 918,460 ครั้ง (test) ปรากฏว่าติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 64,906 ครั้ง (test) แต่จำนวนการตรวจและจำนวนการติดเชื้อนี้ไม่ใช่จำนวนคนที่ได้รับการตรวจ เพราะคนหนึ่งอาจจะตรวจมากกว่าหนึ่งครั้งได้

นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่ 13 ห้องปฏิบัติการ 113 แห่งได้แจ้งว่าในสัปดาห์ต่อไป (สัปดาห์ที่ 14) สามารถทำการตรวจรวมกันได้ 103,515 ครั้ง (test) ต่อวัน ถ้าคำนวณทั้งสัปดาห์แล้วแต่ว่าจะนับ 5 หรือ 7 วัน ห้องปฏิบัติการดังกล่าวสามารถทำการตรวจรวมกันได้สัปดาห์ละ 517,575-724,505 ครั้ง (test)

จะเห็นได้ว่าจำนวนการตรวจในสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น แต่มีห้องปฏิบัติการ 86 แห่งแจ้งว่าเริ่มมีปัญหาอุปกรณ์ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวทำปฏิกิริยา (reagent) และไม้ป้ายตัวอย่าง และในสัปดาห์ที่ 13 มีห้องปฏิบัติการจำนวน 3 แห่งแจ้งเป็นครั้งแรกว่าจำเป็นต้องลดจำนวนการตรวจลงเนื่องจากขาดแคลนตัวทำปฏิกิริยา นอกจากนี้ห้องปฏิบัติจำนวน 42 แห่งแจ้งว่ายังมีตัวอย่างจำนวน 31,998 ตัวอย่างรอการตรวจอยู่ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในวันต่อไป

ตารางแสดงความสามารถในการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 ของห้องปฏิบัติการต่อวัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2563)

 สัปดาห์ที่ 10 สัปดาห์ที่ 11 สัปดาห์ที่ 12 สัปดาห์ที่ 13
จำนวนห้องปฏิบัติการที่ให้ข้อมูล28 93 111 113
จำนวนตรวจ (test) ต่อวัน7,11531,010 64,725 103,515

คำตอบ

ผู้เชี่ยวชาญ เช่น Dr. Julien Riou นักวิจัยโรคระบาดใหญ่จากสถาบัน Institute of Social and Preventive Medicine (ISPM) มหาวิทยาลัยเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ หรือ Prof. Dr. Gérard Krause หัวหน้าแผนกโรคระบาดใหญ่ศูนย์วิจัยโรคติดต่อเฮล์มโฮลทซ์ (Helmholtz-Zentrum für Infektionsforschung GmbH) ให้ความเห็นว่าปกติโรคระบาดใหญ่จะไม่ระบาดแบบแนวราบ คือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจำนวนการระบาดจะไม่อยู่กับที่ แต่มีความเป็นได้สูงมากและน่าอันตรายคือโรคระบาดใหญ่จะระบาดอย่างรวดเร็ว (exponential) เพราะคนติดเชื้อคนเดียวสามารถแพร่เชื้อไปให้คนอื่นอีกได้หลายคน และคนอื่นหลายคนที่ได้รับเชื้อไปก็จะนำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่นต่อเป็นทอด ๆ

คณะวิจัยของ Dr. Julien Riou ได้ออกแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีน โดยได้ผลออกมาว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนติดเชื้อ 1 คน จะแพร่เชื้อต่อให้อีก 2 คน หมายความว่าการแพ่รระบาดจะเพิ่มขึ้นสองเท่าโดยเฉลี่ย จากผู้ติดเชื้อ 500 ราย ถ้าเพิ่มขึ้นสองเท่า 11 ครั้ง จะเกิดจำนวนผู้ติดเชื้อ 1 ล้านราย ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันขั้นเข้มข้นก็จะเกิดการระบาดใหญ่ดั่งเช่นคำสันนิษฐานของประธานสถาบันโรเบิร์ต คอค เมื่อคราวแถลงข่าวในวันที่ 18 มีนาคมว่า ถ้าเยอรมนีไม่มีมาตรการชะลอการแพร่ระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีจะเพิ่มเป็น 10 ล้านรายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน นักวิชาการหลายท่านคิดกันว่าอัตราการแพร่ระบาดต่อไปยังคนอื่นโดยอยู่เฉลี่ยอยู่ที่ 3 คน มากกว่าผลการทำคอมพิวเตอร์จำลองของคณะวิจัยของ Dr. Julien Riou

หากดูสถานการณ์ในจีนที่การแพร่ระบาดถึงจุดสูงสุดและหลังจากนั้นได้ชะลอลง ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในวันที่ 3 เมษายน ลดลง น่าจะเป็นลางดีว่า มาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้นั้นจะได้ผลและในอีกไม่ช้าการแพร่ระบาดในเยอรมนีน่าจะชะลอและลดลงเรื่อย ๆ จากบทเรียนไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1918-1919) ที่มีผู้คนเสียชีวิตหลายสิบล้านคน เนื่องจากปิดข่าวและไม่มีมาตรการชะลอและป้องกันขั้นเข้มข้นใด ๆ ทหารที่กลับบ้านก็นำเชื้อกลับไปด้วย ในสหรัฐอเมริกามีการเดินพาเหรดเพื่อฉลองสงครามยุติและต้อนรับทหารกลับบ้าน มีผู้คนออกมาร่วมแหแหนมากมาย เปิดโอกาสให้เชื้อแพร่ระบาดออกไปขนานใหญ่จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ที่รุนแรงที่สุดในโลก

ขออนุญาตยกบทสรุปท่อนหนึ่งจากรายงานองค์การอนามัยโลกที่ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเข้าไปสังเกตการณ์ในจีนมาปิดท้ายดังนี้:-

“โควิด-19 กำลังแพร่กระจายไปด้วยความรวดเร็ว ที่น่าทึ่ง ไม่ว่าจะมองในด้านใด การระบาดของ โควิด-19 ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากไปเสียหมด และจนถึงปัจจุบันนี้ก็มีหลักฐานที่หนักแน่นแล้วว่า การใช้มาตรการแทรกแซงอื่นที่ไม่ใช่วิธีทางเภสัชวิทยาสามารถช่วยลดหรือแม้แต่หยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคได้ การวางแผนรับมือระดับประเทศและระดับโลก แม้จะด้วยความห่วงใย แต่ก็บ่อยครั้งที่มักจะลังเลที่จะเข้าแทรกแซงด้วยมาตรการเหล่านั้น อย่างไรก็ตามการลดการเจ็บป่วยและล้มตายจากโควิด-19 การวางแผนเตรียมความพร้อมระยะใกล้ จะต้องนำเอามาตรการสาธารณสุขต่างๆ ที่ใช้การได้ดี แม้ไม่ใช่วิธีทางเภสัชวิทยามาใช้ด้วย มาตรการต่างๆ เหล่านี้จะต้องได้รับการนำมาใช้อย่างเต็มที่อย่างทันที ทั้งในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การแยกกักกันตัว การติดตามการสัมผัสใกล้ชิดอย่างเข้มงวด และการกักกันตัว/ติดตามตัว รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน/ประชากรโดยตรง” (ผู้แปล: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ สวทช.)


อ้างอิง

  • Robert-Koch-Institut: Erfassung der SARS-CoV-2-Testzahlen in Deutschland, 2 April 2020
  • Robert-Koch-Institut: Abrupter Rückgang der Raten an Atemwegserkrankungen in der deutschen Bevölkerung, 3 April 2020
  • Robert-Koch-Institut: Coronavirus-Krankheit-2019 (COVID-19) (SARS-CoV-2), 24 March 2020
  • Robert-Koch-Institut: SARS-CoV-2 Steckbrief zur Coronavirus-Krankheit-2019 (COVID-19), 3 April 2020
  • Helmholtz-Zentrum für Infektionsforschung GmbH (HZI): www.helmholtz-hzi.de
  • <a href=“https://www.eurosurveillance.org/content/10.2807/1560-7917.ES.2020.25.4.2000058#html_fulltext“>https://www.eurosurveillance.org/content/10.2807/1560-7917.ES.2020.25.4.2000058#html_fulltext</a>
  • <a href=“https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/13061-who-china-joint-mission“>www.nstda.or.th
  • <a href=“https://www.tagesschau.de/inland/corona-massnahmen-rechtmaessig-101.html“>www.tagesschau.de</a>
  • <a href=“https://www.mdr.de/sachsen-anhalt/corona-virus-covid-was-wir-bei-fallzahlen-beachten-muessen-100.html“>www.mdr.de</a>

Photo credit: www.planet-wissen.de (ภาพวาด Robert Koch กำลังบรรยายแนะนำวัคซีนในงานประชุมนานาชาติด้านการแพทย์ที่กรุงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1890)