จากเรื่องส่วนตัวถึงเรื่องส่วนตัว

เรื่องมีอยู่ว่าปกติข้าพเจ้าสั่งซื้อเสื้อผ้ากีฬาจาก Adidas online เป็นประจำ ส่งกลับบ้างถ้าไม่ถูกใจด้วยหลายเหตุผล ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง วัสดุไม่เป็นอย่างที่คิด ขอเปลี่ยนขนาดบ้างก็มี ฯลฯ ติดต่อแผนกบริการลูกค้าทาง WhatsApp สะดวกมาก พนักงานตอบเร็วทันใจ ก่อนเหตุโควิดระบาดหนัก ข้าพเจ้าตามเรื่องส่งสินค้าคืน ช่วงแรก ๆ พนักงานก็ตอบมาตามปกติ แต่พอรัฐบาลประกาศ lockdown เมื่อกลางเดือนมีนาคม Adidas ก็เงียบไปเลย ก็พอเข้าใจว่า Adidas ปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ จัดให้พนักงานพันกว่าคนทำงานน้อยลง ครั่นจะบริการเหมือนแต่ก่อนคงไม่ได้ … ข้าพเจ้าก็เข้าใจและทำใจได้

ผ่านไปไม่กี่วัน อ่านข่าวเจอว่า Adidas มีแผนการว่าจะงดจ่ายค่าเช่าร้านค้าปลีกของตัวเองและของพาร์ทเนอร์ในช่วง lockdown ชั่วคราว เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ถูกตำหนิจากหลายฝ่าย เลยพับแผนไป เปลี่ยนมาใช้วิธีขอเครดิตจากนโยบายเยียวยาของรัฐบาลแทน โดย Adidas เป็นบริษัทแรก ๆ ที่ยื่นขอเครดิตจาก KfW และได้รับอนุมัติเครดิตจำนวน 2.4 พันล้านยูโร และกู้จากธนาคารเจ้าประจำของตัวเองอีก 600 ล้านยูโร รวมแล้ว Adidas มีเงินใหม่เข้ามาจำนวน 3 พันยูโร หมายความว่า Adidas น่าจะมีสภาพคล่องพอจะให้บริการลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น และขณะนี้ร้านก็กลับมาเปิดได้ แต่ Adidas ก็ยังคงเงียบ ไม่มีปฏิกิริยากับการตามเรื่องของเราอีกเลย

ตอนที่เห็นข่าว Adidas ยื่นขอเครดิตกับ KfW ข้าพเจ้าก็งง ๆ เหมือนกันว่า Adidas เป็นบริษัทแข็งแรงมั่นคง มี“สุขภาพดี“ มีสภาพคล่องดี ไม่มีข่าวเรื่องธุรกิจแย่ออกมา ปีที่แล้ว Adidas ทำกำไรสุทธิเกือบ 2 พันล้านยูโร น่าจะมีเงินสำรองไว้บริหารกิจการต่อไปได้ เช่น จ่ายค่าเช่าร้าน เพราะกฎหมายก็กำหนดให้แบ่งกำไรส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรอง ไม่ให้นำไปปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั้งหมด วิกฤติโควิดทำให้ผลประกอบการของ Adidas ในไตรมาสแรก 2020 ไม่เป็นไปตามแผน คาดว่าจะขาดกำไรประมาณ 500 ล้านยูโร โดยเฉพาะธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค นี้อาจเป็นเหตุผลให้ Adidas ยื่นขอเครดิตเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน โดยกำหนดเวลาชำระคืนไว้ 15 เดือน และมีเงื่อนไขว่าจะไม่ปันผลให้ผู้ถือหุ้นจนกว่าจะชำระเงินคืนครบ อันที่จริง ๆ แล้ว Adidas สามารถหากู้ในตลาดเงินทุนทั่วไปได้ เพราะยังมีสภาพดีอยู่ แต่เลือกใช้บริการของรัฐแทน

⇒ ในปี 2019 Adidas มีรายได้ 23.64 พันล้านยูโร (เพิ่ม 6%) มีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA – ยังไม่หักดอกเบี้ย/ภาษี/ค่าเสื่อม/ค่าจัดหน่าย) 3,845 ล้านยูโร เปรียบเทียบกับปี 2018 เพิ่ม 33% (Geschäftsbericht 2019)

ขนาดบริษัทที่มีสภาพดีอย่าง Adidas ยังยื่นขอเครดิตกับ KfW แล้วบริษัทที่ซวนเซหรือมีผลประกอบการแย่ ๆ ก่อนเหตุโควิดอยู่แล้ว เขายื่นขอเครดิตไหม? ยื่นขอรับท่าน เงื่อนไขดี ๆ ใครไม่อยากได้ รัฐบาลรับประกันให้เต็ม 100% ไม่ถูกประเมินความเสี่ยงว่ามีความน่าเชื่อถือพอจะยื่นขอเครดิตได้หรือไม่

⇒ KfW หรือ Kreditanstalt für Wiederaufbau เป็นของใคร เอาเงินมาจากไหน? KfW คือธนาคารเพื่อการพัฒนาและการฟื้นฟู รัฐบาลเยอรมันถือหุ้น 4 ใน 5 ที่เหลือถือหุ้นโดย 16 รัฐ สรุปคือเงินทุนที่นำมาใช้คือเงินภาษีนั้นเอง คือเจ้าหนี้ให้กู้ไม่พอ รับประกันให้อีกด้วย

มาดูกันต่อว่ามีบริษัทใหญ่ ๆ อะไรอีกบ้างยื่นขอเครดิตกับ KfW

Puma คู่แข่งของ Adidas ก็ไม่ได้มีปัญหาเหลวร้ายอะไร CEO ระบุว่ายื่นขอเครดิตป้องกันไว้ เผื่อ lockdown ลากยาก ได้รับอนุมัติเครดิตวงเงิน 900 ล้านยูโร — ปี 2019 Puma มีรายได้ 5,502.2 ล้านยูโร มีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายและภาษี 262.4 ล้านยูโร (เพิ่ม 40%) และมีเงินสดหมุนเวียนสิ้นปี 2019 จำนวน 518.1 ล้านยูโร Puma ระบุในรายงานประจำปีว่า แม้ว่าความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะคาดการณ์ยาก แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติและในปี 2020 นี้ บริษัทจะสามารถประกอบกิจการได้ตามเป้าหมาย (Geschäftsbericht 2019)
 
Sixt บริษัทรถเช่า ได้รับอนุมัติเครดิตวงเงิน 1.5 พันล้านยูโร แม้ว่าบริษัทฯ ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าปีนี้จะยังคงทำกำไรเหมือนเดิม — ปี 2019 Sixt มีรายได้ 3,306.5 ล้านยูโร มีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายและภาษี 246.8 ล้านยูโร (Geschäftsbericht 2019)
 
Ceconomy บริษัทแม่ของ Media Markt และ Saturn ค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับอนุมัติเครดิตวงเงิน 1.7 พันล้านยูโร แม้ว่ายอดค้าออนไลน์ของบริษัทในช่วง lockdown จะเพิ่มขึ้น 4 เท่าและปัจจุบันจะเปิดร้านขายได้ตามปกติแล้วก็ตาม — ปี 2018/2019 Media Markt และ Saturn มีรายได้รวมกัน 10,492 ล้านยูโร (de.statista.com)
 
Thyssenkrupp บริษัทเหล็กเยอรมันเก่าแก่ที่ซวนเซมานานแล้ว เช่น ขาดทุนจากการขยายธุรกิจในสหรัฐฯ และการสร้างโรงงานเหล็กในบราซิล รวมเป็นเงินประมาณ 8 พันล้านยูโร เกือบจะถูกแยกขายทอดตลอด ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ Thyssenkrupp ตกลงขายธุรกิจลิฟต์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังทำเงินอยู่ให้กับกลุ่ม consortium กลุ่มหนึ่งในราคา 17.2 พันล้านยูโร (spiegel.de) เพื่อจะได้ไม่หายไปจากยุทธจักร ในขณะอยู่ในระหว่างรออนุมัติการโอนถ่ายกิจการและรอรับเงิน Thyssenkrupp ได้ยื่นขอเครดิตและได้รับอนุมัติวงเงิน 1 พันล้านยูโร มิเช่นนั้นมีสิทธิเจ๊งได้ — ปี 2018/2019 (ตค.-กย.) กลุ่ม Thyssenkrupp มีรายได้ 41,996 ล้านยูโร มีกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT – ก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี) 272 ล้านยูโร หนี้ 3,703 ล้านยูโร กระแสเงินสดอิสระติดลบ 1,263 ล้านยูโร และที่ประชุมใหญ่ผู้หุ้นมีมติไม่ให้ปันผล โดยรวมกลุ่ม Thyssenkrupp มีหนี้ประมาณ 7 พันล้านยูโร และมีภาระจ่ายบำนาญของบริษัทจำนวนประมาณ 9 พันล้านยูโร (Thyssenkrupp Newsroom)
 
Lufthansa – „กระเรียนเยอรมัน“ ตามที่เคยโพสต์มาแล้ว ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับรัฐบาล เพราะต้องการความช่วยเหลือทางการเงินประมาณ 9 พันล้านยูโร นับว่าเป็นบริษัทที่ต้องการเงินช่วยเหลือมากที่สุด ถ้าใครพอตามข่าวบ้าง จะพอรู้ว่าธุรกิจการบินแข่งขันกันสูงมาก เกิดสายการบิน low costs อย่าง Ryanair, Easyjet หรือ Air Berlin (ซึ่งเจ๊งไปแล้ว) มาขอส่วนแบ่งตลาด ถึงแม้ Lufthansa จะตั้งแบรนด์ลูก low costs อย่าง Germanwings ขึ้นมาสู้ ก็เอาไม่อยู่ จากเหตุการณ์เครื่องบินของ Germanwings ตกทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเมื่อปี 2015 โดยมีหลักฐานว่ากัปตันซึ่งมีปัญหาด้านจิตเวชเป็นคนทำให้เครื่องบินตกเอง ทำให้ Lufthansa ประสบปัญหากับเรื่องภาพพจน์และการทำตลาดของ Germanwings จึงพยายามลดขนาดของ Germanwings มาเรื่อย ๆ และ Lufthansa คงสบโอกาสในห้วงวิกฤติไวรัสโคโรนา ประกาศปิด Germanwings เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา — ว่ากันว่า วิกฤติไวรัสโคโรนาทำให้คำถามดังชัดเจนขึ้นมาอีกว่า เยอรมนีจำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติจริงหรือ? ประธานบริหารของ Lufthansa ตอบรับแบบอ้อมไปไกลว่า ใช่ เพราะ Lufthansa คือความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการบินยุโรป ไม่ใช่แค่ของเยอรมนีอย่างเดียว (Lufthansa เป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีบริษัทลูกมากกว่า 550 บริษัท สายการบินในเครือ: Lufthansa, Swiss Air, Austrian Airlines และ Brussels Airlines)
 
จากการแข่งขันด้านราคาอย่างหนักเพราะมีสินค้าเกินกว่าความต้องการ (Überkapazität) ประกอบกับธุรกิจขนส่งสินค้าหดตัวลง ทำให้ธุรกิจของกลุ่ม Lufthansa ในปี 2019 โตไม่มากนัก มีรายได้ 36.4 พันล้านยูโร และกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT) 1.2 พันล้านยูโร ลดลง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2018 (Geschäftsbericht 2019)
 
Deutsche Bahn (มหากาพย์) ที่บริหารผิดพลาดมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไม่ตรงเวลา ยกเลิก/งดเดินรถบ่อย ๆ เจอคู่แข่งรถทัวร์ ธุรกิจขนส่งขาดทุน บริษัทลูกในอังกฤษขาดทุน ปัญหาเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเลย แต่ Deutsche Bahn ก็ได้แจ้งไปยังรัฐบาลว่าต้องการเงินช่วยเหลือจำนวนราว ๆ 8 พันล้านยูโร
 
⇒ Deutsche Bahn เป็นของสหพันธ์สาธารรัฐเยอรมัน 100% โดยเป็นนิติบุคคลในรูปบริษัทมหาชนจำกัด (Aktiengesellschaft) ปี 2019 มีรายได้ 43.43 พันล้านยูโร และกำไรก่อนเสียภาษี 681 ล้านยูโร (integrierter Bericht 2019)
 
ดู ๆ ไปแล้วนโยบายเยียวยาวคือ dilemma สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป้าหมายสำคัญแรกของรัฐบาลก็คงเป็นการรักษางานของประชาชนไว้ โดยใช้ภาษีที่เก็บมาจากประชาชนนั้นแหละ จะแยกช่วยใครอย่างไรก็คงยาก แต่ในขณะเดียวกันมันคือโอกาสหรือช่องทางให้กับคนที่ทำธุรกิจย่ำแย่อยู่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาแย่ตอนโควิดระบาดนี้ เมื่อมันเป็นโอกาส ใครละจะไม่อยากใช้โอกาสนี้ คนที่จะพอรู้สถานะการณ์ของแต่ละบริษัทบ้าง ก็น่าจะมีเพียง KfW และธนาคารเจ้าประจำของแต่ละบริษัท ประชาชนผู้เสียภาษี จะว่าไปแล้วคือผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ต้องมาร่วมรับผิดชอบช่วยเลี้ยง „เด็กติดซาง“ หรือ „ผีซอมบี้ตายซาก“ พวกนี้ด้วย เพราะท้ายสุดแล้วเราอยู่ลำเรือเดียวกันใช่หรือไม่?

สถิติการยื่นขอเครดิตจาก KfW สถานะวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ดังตารางต่อไปนี้

ประเภทเครดิตจำนวนคำขอวงเงินรวม (ล้านยูโร)
ยื่นขอเครดิตแบบด่วน (Schnellkredit)7,397 2,518.6
เครดิตไม่เกิน 800,000 ยูโร 33,252 5,483.4
เครดิตไม่เกิน 3 ล้านยูโร 2,728 4,731
เครดิตไม่เกิน 10 ล้านยูโร 447 2,791
เครดิตไม่เกิน 100 ล้านยูโร 2427,197
เครดิตมากกว่า 100 ล้านยูโรขึ้นไป2319,600
รวม 44,089 42,321

จะเห็นว่าประเภทเครดิตที่มีวงเงินสูงสุดคือ ประเภทเครดิตมากกว่า 100 ล้านยูโรขึ้นไป มี 23 คำขอ วงเงินรวม 19,600 ล้านยูโร คิดเป็น 46.31% เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินเครดิตที่ KfW อนุมัติรวมทั้งหมดจนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม ตกแล้วเฉลี่ยคำขอละ 852.17 ล้านยูโร


อ้างอิง

หมายเหตุ: โพสต์ลง Facebook วันที่ 19 พฤษภาคม 2563

Photo: kfw.de (ตึกสำนักงานใหญ่ KfW)