มาตรการช่วยเหลือลุฟท์ฮันซ่า – Rettungspaket für Lufthansa

วันนี้เป็นอันว่ารัฐบาลโดยคณะกรรมการกองทุนเสถียรภาพเศรษฐกิจ (Wirtschaftsstabilisierungsfonds – WSF) กับ Lufthansa ตกลงกันได้ โดยมาตรการช่วยเหลือ Lufthansa (Rettungspaket) มีวงเงินถึง 9 พันล้านยูโร แบ่งเป็น

    • รัฐบาลถือหุ้นเงียบจำนวนถึง 5.7 พันล้านยูโร โดยหุ้นเงียบจำนวนประมาณ 4.7 พันล้านยูโร จะนับเป็นทุนของ Lufthansa สอดคล้องตามประมวลกฎหมายพาณิชย์และเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFSR) และหุ้นเงียบนี้ไม่มีกำหนดเวลา Lufthansa สามารถยกเลิกได้ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยรัฐบาลจะได้ดอกเบี้ย 4% สำหรับปี 2020 และ 2021 ในปีต่อ ๆ ไป จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2027 จะได้ 9.5% [หมายเหตุ: การถือหุ้นเงียบ (stille Beteiligung) จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงและออกความคิดเห็นใด ๆ รับผิดชอบจำกัดเฉพาะจำนวนหุ้นเงียบที่ถือสิทธิ และจะผู้ถือหุ้นเงียบไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะในนามบริษัท]
    • Lufthansa จะเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยรัฐบาลจะเข้ามาถือหุ้นจำนวน 20% โดยซื้อในราคาหุ้นละ 2.56 ยูโร จะทำให้ Lufthansa มีเงินสดสำรองจำนวน 300 ล้านยูโร ในกรณีการครอบงำกิจการโดยบุคคลที่สาม รัฐบาลสามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นเป็น 25% บวกหุ้นอีก 1 หุ้นได้ หากไม่ใช่กรณีการครอบงำกิจการ รัฐบาลสามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นอีก 5% โดยแปลงสภาพหุ้นเงียบส่วนที่ Lufthansa ไม่ได้ชำระดอกเบี้ย (แปลงหุ้นอย่างเร็วที่สุดตั้งแต่ปี 2024 และ 2026 เป็นต้นไป) และไม่ให้สัดส่วนหุ้นเกิดภาวะเจือจางได้ — ถ้าภายในสิ้นปี 2023 Lufthansa สามารถชำระหุ้นเงียบคืนให้รัฐบาลทั้งหมดในราคาอย่างน้อยหุ้นละ 2.56% บวกดอกเบี้ย 12% ต่อปี รัฐบาลจะขายหุ้น 20% ทั้งหมดในราคาตลาด [หมายเหตุ: ภาวะเจือจาง (Verwässerungseffekt – Dilution Effect) หมายถึงการที่มีหุ้นใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของของหุ้นที่เราถืออยู่นั้นน้อยลงกว่าเดิม]
    • มาตรการช่วยเหลือข้างต้นจะเสริมด้วยเครดิตวงเงินจำนวน 3 พันล้านยูโรจาก KfW และธนาคารพาณิชย์ โดยมีระยะเวลา 3 ปี
    • เงื่อนไขมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล: งดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและลดค่าตอบแทนผู้บริหารของ Lufthansa และการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแลของ Lufthansa จำนวน 2 ตำแหน่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล และ 1 ใน 2 ตำแหน่งนี้ ต้องเป็นสมาชิกในคณะกรรมการตรวจสอบของคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแล และรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหารของ Lufthansa แต่จะใช้สิทธิออกเสียงในกรณีการครอบงำกิจการเท่านั้น [หมายเหตุ: คณะคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแล (Aufsichtsrat) ของ Lufthansa มีสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียง 20 คน และมีประธานอาสาที่ไม่มีสิทธิออกเสียง 1 คน ในคณะกรรมการฯ ปัจจุบันเป็นตัวแทนลูกจ้างครึ่งหนึ่ง ]
    • มาตรการช่วยเหลือและเงื่อนไขข้างต้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการฝ่ายกำกับดูแลของ Lufthansa และคณะกรรมาธิการยุโรปในลำดับสุดท้าย

ทำไมรัฐบาลถึงเข้ามาช่วย Lufthansa: รัฐบาลระบุว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาระบาด Lufthansa เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงแข็งแรง ทำกำไรมาโดยตลอด และมีอนาคตดี แต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างหนัก การเข้ามาช่วยของรัฐบาลคือการรักษาการจ้างงาน รักษาเสถียรภาพของบริษัทที่ยังมีสภาพดีมั่นคงแข็งแรง และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาพรวม — ผู้แทนด้านการบินพลเรือนและการบินอวกาศของรัฐบาลเยอรมันระบุว่าการมีสายการบินเป็นของตัวเองสำคัญต่อการส่งออกของเยอรมนี ไม่ต้องพึ่งพาและคอยกังวลกับสายการบินของชาติอื่น ในระยะยาวจะเกิดรายได้ในรูปภาษีให้กับรัฐบาล และเป็นการรักษาการจ้างงานเอาไว้ การเข้ามาช่วยเหลือของรัฐบาลก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนนั้นเอง

รัฐบาลจะถอนตัวจาก Lufthansa เมื่อใด: ถ้าเมื่อใดที่รัฐบาลเห็นว่าคุ้ม รัฐบาลจึงจะถอนตัว จะเป็นเมื่อใดนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหพันธ์ระบุว่าขึ้นอยู่กับสถานะการณ์และฝีมือของ Lufthansa โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะนำกำไรที่ได้จากการเข้าถือหุ้น Lufthansa กลับไปใช้ในกองทุนมาตรการช่วยเหลือไวรัสโคโรนา โดยอียูกำหนดกรอบระยะเวลาการถอนตัวไว้ภายในประมาณ 6 ปี ซึ่งรัฐมนตรีฯ หวังว่าการถอนตัวของรัฐบาลคงไม่เกินกรอบระยะเวลานี้

คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีข้อขัดข้องหรือไม่: รัฐบาลทราบว่าอียูตั้งเงื่อนไขไว้ค่อนข้างสูง อาจจะต้องเจรจากันหนักเหมือนกัน นอกจากอียูจะมีเงื่อนไขเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว อียูอาจจะกำหนดให้ Lufthansa จัดสรรเปิด slots (เวลาการบิน) ในสนามบินนานาชาตินครแฟรงก์เฟิร์ตและนครมิวนิคซึ่งเป็นอู่ข่าวอู่น้ำของ Lufthansa ให้กับสายการบินคู่แข่ง


อ้างอิง

หมายเหตุ: โพสต์ลง Facebook 25 พฤษภาคม 2563