การพึ่งพาตัวเองไปกันได้กับตลาดโลก?

สื่อไทยลงข่าวว่าจีนกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจโดยจะหันมาพึ่งตลาดในประเทศมากขึ้น สืบเนื่องมาจากผลกระทบจากทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและการต่อสู้ทางการค้า (www.posttoday.com)

หลายประเทศคงคิดวางเป้าหมายคล้ายกัน โดยจะหันมาพึ่งตัวเองเป็นหลักหรือพึ่งตัวเองมากขึ้น เช่น อินเดีย (www.hindustantimes.com/india-news)

ท่าทีของรัฐบาลเยอรมันในขณะนี้คือพยุงบริษัทและธุรกิจที่ได้ผลกระทบไปก่อน ส่วนเป้าหมายเศรษฐกิจในอนาคตนั้น ดูท่าทีแล้วรัฐบาลน่าจะยังคงเน้นกลุ่มธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญเอาไว้ เช่น ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีและยา เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร ส่วนการจะปรับโหมดมาพึ่งตัวเองให้มากขึ้น รัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน เพราะการส่งออกและการค้าขายกับต่างประเทศยังเป็นกุญแจหลักของเศรษฐกิจเยอรมัน แต่วิกฤติไวรัสโคโรนาได้ทำให้เห็นแล้วว่าการจะพึ่งแต่สินค้าบางประเภทจากต่างประเทศนั้น เช่น หน้ากาก อนามัย ผ้าใยกรอง น้ำยาฆ่าเชื้อ ชุดป้องกัน เป็นต้น ทำให้เกิดการขาดแคลนได้ รัฐบาลคงต้องมาดูในระยะยาวว่าสินค้าชนิดใดที่มีความจำเป็นต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ (systemrelevant/Deutschland-relevant) โดยไม่ต้องพึ่งตลาดโลก แต่ในขณะเดียวกันเยอรมนีไม่สามารถจะหันหลังให้กับตลาดโลกได้ เพราะตัวเองคือพ่อค้าคนหนึ่งที่อาศัยผลประโยชน์จากตลาดโลกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ปีนี้รัฐบาลเยอรมันคงเน้นการพยุงเศรษฐกิจไปก่อน โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมันรวมกับกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานสหพันธ์ได้ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2020 จะติดลบร้อยละ 6.3 เนื่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาขนาดใหญ่ทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถอถอย (Recession) และคาดการณ์ว่าปี 2021 เศรษฐกิจเยอรมันจะฟื้นตัว โดยประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2021 จะขยายตัวร้อยละ 5.2 นอกจากนี้แล้ว ยังประเมินว่ามูลการส่งออกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจเยอรมันในปี 2020 ก็จะติดลบเช่นกัน ดังตารางต่อไปนี้ (Schlaglichter der Wirtschaftspolitik, Ausgabe Mai 2020, BMWi)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (ณ ราคาที่แท้จริง)2019 (%)2020 (%)2021 (%)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ0.6-6.35.2
การอุปโภคบริโภคของครัวเรือน (รวมองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร)1.6-7.46.5
การอุปโภคของรัฐ2.63.71.3
การลงทุนในเครื่องจักร/อุปกรณ์ อาคารสถานที่ และ facilities2.6-5.03.5
การส่งออก0.9-11.67.6
การนำเข้า1.9-8.26.5
ดัชนีผู้บริโภค1.40.51.5
อัตราว่างงาน2.272.622.46

องค์กรอื่นประเมินเศรษฐกิจเยอรมันและพยากรณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเยอรมนีในปี 2020 และ ปี 2021 แตกต่างกัน ดังตารางด้านล่างนี้  

องค์กร2020 (%)2021 (%)พยากรณ์เมื่อ
คณะกรรมาธิการยุโรป-6.5+5.9พฤษภาคม 2020
ธนาคารเพื่อการพัฒนาและการฟื้นฟู (KfW)-6.0+5.0พฤษภาคม 2020
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)-7.0+5.2เมษายน 2020
การพยากรณ์ร่วมกันของสถาบันเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ-4.2+5.8เมษายน 2020
สถาบันเศรษฐศาสตร์โลก IfW Kiel-4.5+7.2มีนาคม 2020
คณะผู้เชี่ยวชาญประเมินการพัฒนาของเศรษฐกิจโดยรวม
-2.8+3.7มีนาคม 2020
สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครมิวนิค (ifo)-1.5+3.7มีนาคม 2020
สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ DIW -0.1+1.7มีนาคม 2020
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)+0.3+0.9มีนาคม 2020
ธนาคารกลางเยอรมัน+0.6+1.4ธันวาคม 2019

อ้างอิง

หมายเหตุ: โพสต์ลง Facebook 25 พฤษภาคม 2563

Photo: Maurizio Gambarini/ picture-alliance/ dpa (ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือนครฮัมบวร์ก)