มาตรการฟื้นฟูอียู

เมื่อเร็วนี้ ๆ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แอมานุแอล มาครง และนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ได้ร่วมกันเสนอแนวคิดจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอียูหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาผ่านไป โดยการออกตราสารหนี้วงเงิน 500 พันล้านยูโร และเมื่อวานนี้ (27 พฤษภาคม) ประธานกรรมาธิการยุโรป อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเยน (Ursula von der Leyen) ได้แถลงในที่ประชุมของสภายุโรปเสนอแนวทางฟื้นฟูอียูฯ ในวงเงินจำนวน 750 พันล้านยูโร โดยแนวคิดของประธานาธิบดีมาครงกับนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลถือเป็น „เสา“ หนึ่งในแนวทางการฟื้นฟูที่ประธานกรรมาธิการยุโรปได้แถลงดังกล่าว

วงเงินฟื้นฟู 750 พันล้านยูโรนี้จะอยู่ในกรอบรอบงบประมาณปี 2021-2027 ของอียู โดยจำนวน 500 พันล้านยูโร จะนำไปจัดสรรให้ประเทศสมาชิกอียูโดยไม่ต้องจ่ายคืน ที่เหลือ 250 พันล้านยูโรจะให้เป็นเครดิตกับประเทศสมาชิกและบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามากที่สุด

ประเทศผู้รับเงินช่วยเหลือจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใดบ้าง

ประเทศที่ต้องการเงินช่วยเหลือจะต้องยื่นแผนฟื้นฟูและแผนปฏิรูปประเทศต่ออียู แผนดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อเป้าหมายหลักของอียูและจะต้องคำนึงถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่อียูจัดทำให้แต่ละประเทศทุกปีด้วย เพราะหลายประเทศเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่ปฏิบัติตาม โดยเงินที่ได้นั้นจะต้องนำไปลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายหลัก 3 ประการ ดังนี้

  1. ส่งเสริมการป้องกันภูมิอากาศ (climate protection)
  2. เร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (digitization) และ
  3. สร้างความทนทานเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจอียู (resilience)

ใครคือผู้อนุมัติ

คณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นผู้อนุมัติ โดยจะต้องหารือกับคณะกรรมการเฉพาะที่รับผิดชอบซึ่งมีตัวแแทนของแต่ละประเทศเป็นสมาชิก (คือรัฐมนตรีของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง) ก่อนจะอนุมัติ โดยจะพิจารณาเงื่อนไขเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น อัตราว่างงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากน้อยเพียงใด หรือ เศรษฐกิจของประเทศถดถอยมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น หลักในการพิจารณาที่สำคัญอันหนึ่งคือการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ ประเทศที่ทำรายได้ดีจากการท่องเที่ยว เช่น กรีซ หรือ โครเอเชีย  ไม่ควรพึ่งการท่องเที่ยวอย่างเดียว ควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในสาขาอื่นด้วย และผลกระทบในด้านสาธารณสุขไม่เป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณา

อียูจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเงินช่วยเหลือที่ให้ไปนั้นจะถูกนำไปใช้สอดคล้องกับนโยบายของอียูที่กล่าวข้างต้น ใช้ถูกที่ถูกทางและเกิดประโยชน์จริง อียูมีมาตรการป้องกันคือทุกคำขอจะต้องได้รับการพิจารณาจากทั้งคณะกรรมาธิการยูโรปและคณะมนตรียุโรป

อียูจะนำเงินมาจากไหน

อียูจะออกตราสารหนี้เข้าสู่ตลาดทุน มีอายุ 30 ปี โดยประเทศสมาชิกอียูทุกประเทศจะร่วมกันชำระคืนเริ่มตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการชำระคืนทางอ้อมอยู่สามทาง คือ 1) เพิ่มยอดเงินจ่ายเข้ากองกลางของอียูของประเทศสมาชิก 2) มาตราการรัดเข็มขัดทางการคลัง และ 3) เก็บภาษีอากรอียู (เช่น การซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาษีดิจิทัล หรือ ภาษีบริษัท) หากทั้งสามทางเป็นไปไม่ได้  ในทางทฤษฎียังมีทางออก 4) อียูไม่ชำระตราสารหนี้ โดยปรับโครงสร้างหนี้แทน แต่จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะต้องไปปรับสนธิสัญญาลิสบอนซึ่งกำหนดไว้ไม่ให้อียูสร้างหนี้ถาวร [สนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon หรือ Vertrag von Lissabon)  คือ รากฐานทางกฎหมายหรือกฎหมายแม่บทของสหภาพยุโรป]

แผนการฟื้นฟูจะมีผลบังคับเมื่อใด

ผู้นำรัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกจะต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อลงมติ โดยคาดว่าจะมีการประชุมสูงสุดวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ซึ่งในเบื้องต้นนี้ประเทศสมาชิกบางประเทศ เช่น ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และ สวีเดน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างหนี้เพิ่มโดยเกลี่ยหนี้ให้ทุกประเทศรับผิดชอบร่วมกัน ข้อเสนอของประเทศทั้งสี่ที่ได้ชื่อว่าเป็น „สี่มัธยัสถ์“ คือตั้งกองทุนฉุกเฉินให้ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลา 2 ปี และต้องชำระคืนในภายหลัง จึงคะเนได้ว่าการเจรจาคงเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะกลุ่มประเทศที่เป็นผู้จ่ายหลักหรือที่มีวินัยคลังดี คงไม่ต้องการช่วยแบกภาระหนี้ของกลุ่มประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้ว และท่าทีที่ประเทศทั้งสี่ไม่เห็นด้วยกับแผนการฟื้นฟูคือกลัวว่าประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือจะใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด มาตรการป้องกันข้างต้นน่าจะพอทำให้ประเทศทั้งสี่สบายใจได้ในระดับหนึ่ง

ใครได้และจ่ายเท่าใด

จากแนวคิดของประธานาธิบดีมาครงและนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ยุโรป (Leibniz Centre for European Economic Research – ZEW) เมืองมันน์ไฮม์ ได้ลองคำนวณว่าแต่ละประเทศสมาชิกจะได้รับจัดสรรเงินช่วยเหลือจากกองทุน 500 พันยูโรเท่าใด (25 พฤษภาคม) และในกรณีที่อียูเลือกทางออกที่ 1 ข้างต้น ประเทศสมาชิกจะจ่ายคืนประเทศละเท่าใด และท้ายสุดแล้ว แต่ละประเทศต้องจ่ายสุทธิหรือได้รับสุทธิเท่าใด โดยการลองคำนวณนี้ได้ใช้ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจของอียูจากทศวรรษ 2009-2019 เป็นฐานคำนวณ โดยตั้งสมมติฐานว่าการเติบโตของเศรษฐกิจอียูในทศวรรษ 2019-2029 จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

ประเทศที่ได้รับจัดสรรมาก 10 อันดับแรกคือ

  • เยอรมนี 107.38 พันล้านยูโร จ่ายคืน 130.83 พันล้านยูโร
  • ฝรั่งเศส 96.38 พันล้านยูโร จ่ายคืน 85.71 พันล้านยูโร
  • อิตาลี 82.19 พันล้านยูโร จ่ายคืน 56.39 พันล้านยูโร
  • สเปน 56.45 พันล้านยูโร จ่ายคืน 42.72 พันล้านยูโร
  • เนเธอร์แลนด์ 26.86 พันล้านยูโร จ่ายคืน 28.89 พันล้านยูโร
  • เบลเยียม 16.38 พันล้านยูโร จ่ายคืน 16.70 พันล้านยูโร
  • สวีเดน 13.90 พันล้านยูโร จ่ายคืน 18.90 พันล้านยูโร
  • ไอร์แลนด์ 13.33 พันล้านยูโร จ่ายคืน 13.50 พันล้านยูโร
  • โปแลนด์ 10.89 พันล้านยูโร จ่ายคืน 21.28 พันล้านยูโร
  • ออสเตรีย 10.61 พันล้านยูโร จ่ายคืน 14.02 พันล้านยูโร
  • กรีซ 8.82 พันล้านยูโร จ่ายคืน 4.66 พันล้านยูโร

จำนวนเงินแบ่งสรรนี้แม้จะมีจำนวนหลายพันล้านยูโร แต่สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการการแพร่ระบาดอย่างหนักประกอบกับภาระหนี้สินเดิมอย่างอิตาลีและสเปน เงินแบ่งสรรนี้ตามภาษิตเยอรมันเป็นเพียง „หยดน้ำหยดเดียวบนก้อนหินร้อน“ เมื่อโดนความร้อนของหินก็ละลายหายไปในพริบตา ไม่สามารถดับร้อนดับวิกฤติได้

ตารางด้านล่างนี้คือผลการลองคำนวณสำหรับสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ (ปรับจากตารางต้นฉบับของศูนย์วิจัย ZEW):

 แบ่งสรรตามความเสียหายในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2020 แบ่งสรรตามความเสียหายในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2020 (น้ำหนัก 80%) และตามอัตราว่างงาน (น้ำหนัก 20%)   จ่ายตามความเสียหายในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 2020จ่ายตามตามความเสียหายในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2020 (น้ำหนัก 80%) และตามอัตราว่างงาน (น้ำหนัก 20%)
ประเทศจำนวนแบ่งสรร (พันล้านยูโร)คิดเป็นร้อยละของ GDP 2019 (%)จำนวนแบ่งสรร (พันล้านยูโร)คิดเป็นร้อยละของ GDP 2019 (%)จ่ายคืนกองทุน (พันล้านยูโร)คิดเป็นสัดส่วนร้อยละจ่ายเข้ากองกลางสุทธิ (พันล้านยูโร)คิดเป็นร้อยละของ GDP 2019จ่ายเข้ากองกลางสุทธิ (พันล้านยูโร)คิดเป็นร้อยละของ GDP 2019
สหภาพยุโรป5003.595003.59%500100.00% 00.00%00.00%
เยอรมนี107.383.1393.252.71130.8326.1723.450.6837.581.09
ฝรั่งเศส96.383.9887.083.6085.7117.14-10.67-0.44-1.36-0.06
อิตาลี82.194.6075.544.2356.3911.28-25.80-1.44-19.16-1.07
สเปน56.454.5366.885.3742.728.54-13.73-1.10-24.16-1.94
เนเธอร์แลนด์26.863.3126.193.2328.895.782.030.252.70.33
เบลเยียม16.383.4614.733.1116.703.340.320.071.970.42
สวีเดน13.902.9314.243.0018.903.785.001.054.660.98
ไอร์แลนด์13.333.8411.733.3813.502.700.170.051.770.51
โปแลนด์10.892.0622.354.2221.284.2610.391.96-1.07-0.20
ออสเตรีย10.612.669.622.4114.022.803.400.854.391.10
กรีซ8.824.719.535.094.660.93-4.16-2.22-4.87-2.60
เดนมาร์ก8.802.837.882.5411.782.362.980.963.91.25
ฟินแลนด์7.353.066.742.818.051.610.700.291.30.54
โปรตุเกส6.943.278.774.136.841.37-0.09-0.04-1.92-0.91
เช็ก6.613.008.453.848.201.641.590.72-0.25-0.11
โรมาเนีย6.432.889.614.319.031.812.601.16-0.59-0.26
ฮังการี4.903.417.154.975.511.100.620.43-1.64-1.14
สโลวาเกีย3.053.244.034.283.740.750.690.73-0.29-0.31
โครเอเชีย2.384.413.135.801.810.36-0.57-1.06-1.32-2.45
บัลแกเรีย2.113.473.686.072.390.480.280.47-1.29-2.13
ลิทัวเนีย1.843.822.425.011.900.380.060.12-0.52-1.08
ลักเซมเบิร์ก1.652.601.372.161.840.370.180.290.460.73
สโลวีเนีย1.623.371.823.791.710.340.090.20-0.11-0.22
ลัตเวีย1.023.361.254.111.090.220.070.22-0.16-0.53
เอสโตเนีย0.943.361.364.861.210.240.260.94-0.16-0.56
ไซปรัส0.783.580.753.420.690.14-0.09-0.41-0.06-0.26
มอลตา0.372.810.423.190.610.12 0.241.810.191.42

ประเทศจ่ายสุทธิ (หลักพันล้านยูโรขึ้นไป) คือ เยอรมนี โปแลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก และ เนเธอร์แลนด์ โดยเยอรมนีแม้จะได้รับจัดสรรมากที่สุดก็ตาม และหลังจากหักชำระหนี้แล้ว เป็นผู้จ่ายสุทธิมากที่สุดจำนวน 23.45 พันล้านยูโร หรือ 37.58 พันล้านยูโรหากคำนึงถึงอัตราว่างงาน ตามด้วยโปแลนด์จ่ายสุทธิจำนวน 10.39 พันล้านยูโร แต่หากคำนึงถึงอัตราว่างงานด้วย โปแลนด์ได้รับสุทธิ 1.07 พันล้านยูโร

ประเทศแบ่งสรร (พันล้านยูโร)แบ่งสรรโดยคำนีงถึงอัตราว่างงาน (พันล้านยูโร)จ่ายคืนกองทุน (พันล้านยูโร)จ่ายเข้ากองกลางสุทธิ (พันล้านยูโร)จ่ายเข้ากองกลางสุทธิโดยคำนึงถึงอัตราว่างงาน (พันล้านยูโร)
เยอรมนี107.3893.25130.8323.4537.58
โปแลนด์10.8922.3521.2810.39-1.07
สวีเดน13.9014.2418.905.004.66
ออสเตรีย10.619.6214.023.404.39
เดนมาร์ก8.807.8811.782.983.90
เนเธอร์แลนด์26.8626.1928.892.032.70
ฟินแลนด์7.356.748.050.701.30
เบลเยียม16.3814.7316.700.321.97
ไอร์แลนด์13.3311.7313.500.171.77

ประเทศรับสุทธิ (หลักพันล้านยูโรขึ้นไป) คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และ กรีซ คือกลุ่มประเทศใต้นั้นเอง โดยอิตาลีได้รับจัดสรรมากเป็นอันดับสาม และหลังจากหักหนี้แล้ว เป็นผู้รับสุทธิมากที่สุดคือจำนวน 25.80 พันล้านยูโร หรือ 19.16 พันล้านยูโรหากคำนึงถึงอัตราว่างงาน ตามด้วยสเปนได้รับสุทธิ 13.73 หรือ 24.16 พันล้านยูโร  และ ฝรั่งเศสได้รับสุทธิ 10.67 หรือ 1.36 พันล้านยูโร  

ประเทศแบ่งสรร (พันล้านยูโร)แบ่งสรรโดยคำนีงถึงอัตราว่างงาน (พันล้านยูโร)จ่ายคืนกองทุน (พันล้านยูโร)จ่ายเข้ากองกลางสุทธิ (พันล้านยูโร)จ่ายเข้ากองกลางสุทธิโดยคำนึงถึงอัตราว่างงาน (พันล้านยูโร)
อิตาลี82.1975.5456.39-25.80-19.16
สเปน56.4566.8842.72-13.73-24.16
ฝรั่งเศส96.3887.0885.71-10.67-1.36
กรีซ8.829.534.66-4.16-4.87
โครเอเชีย2.383.131.81-0.57-1.32
โปรตุเกส6.948.776.84-0.09-1.92
ไซปรัส0.780.750.69-0.09-0.06

จากการลองคำนวณข้างต้น แม้จะไม่ใช้ตัวเลขตามความเป็นจริง แต่ก็พอบอกทิศทางได้ว่าประเทศไหนได้รับจัดสรรประมาณเท่าใด จะได้รับสุทธิและจ่ายสุทธิประมาณเท่าใด และพอคาดการณ์ได้ว่าประเทศที่มองว่าตัวเองอาจเสียผลประโยนชน์ เช่น โปแลนด์ อาจจะพยายามขัดขวางแผนการชำระหนี้ หรือประเทศที่ประหยัดมัธยัสถ์อย่างเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หรือ ออสเตรีย คงต้องการเห็นทางออกที่ยั่งยืนและเหมาะสมมากกว่า ส่วนเยอรมนีกับฝรั่งเศสเกลอแก้วก็ดูเหมือนยินดีที่จะจ่ายถึงได้ร่วมกันออกมาเสนอแนวคิด

โดยส่วนตัวข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการสร้างหนี้ใหม่มาพอกหนี้เก่าเป็นดินพอกหางหมู อียูถือว่าเป็นชุมชนมั่งคั่งแถวหน้าของโลกควรจะหาทางออกที่ยั่งยืนมากกว่านี้ โดยประเทศที่มีปัญหาเรื้อรังควรสร้างวินัยหรือมีวินัยเคร่งครัดมากกว่านี้ การจะหวังพึ่งประโยชน์จาก „กงสี“ อย่างเดียว โดยไม่ควรอ้างแต่ solidarity หรือความเป็นเอกภาพและการร่วมชะตาเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ในระดับการกำกับดูแลและตรวจสอบ อียูควรปรับปรุงกลไกที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะต่อให้ตรากฎหมายตราระเบียบออกมารัดกุมแค่ไหน แต่ถ้าในระดับปฏิบัติไม่มีการควบคุมดูแลและคอยประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายและระเบียบนั้นก็ไม่มีประโยชน์อันใด


อ้างอิง

Photo: www.europarl.europa.eu (ธงชาติสมาชิกสหภาพยุโรปหน้าตึกสภาสหภาพยุโรป เมืองสตราสส์บวร์ก ประเทศฝรั่งเศส)