ปี 2021 นี้ ธุรกิจสาขาไหนในเยอรมนีจะอยู่หรือจะไป

ปี 2020 ทุกภาคส่วนต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดกันถ้วนหน้า ภาคเศรษฐกิจแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศและธุรกิจสาขาสำคัญจะมีอนาคตอย่างไรในปีนี้

. . .

ธุรกิจค้าปลีก

ธุรกิจค้าปลีกเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด ไม่ต้องรอให้นักเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ เราผู้บริโภคก็น่าจะพอประเมินสถานการณ์ได้คร่าว ๆ ว่า ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะเราเป็นผู้บริโภคและใช้บริการร้านค้าปลีกเหล่านั้นเอง

ร้านค้าปลีกที่ได้รับผกกระทบหนักคือ ร้านขายเสื้อผ้า ของเล่น และเครื่องประดับ และ ที่บูมคือซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ลองคิดดูหรือทำรายการเอาเองว่า ปีที่แล้วเราได้ซื้ออะไรมากน้อยกันบ้าง? เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับใหม่ ๆ เต็มตู้เสื้อผ้า? หรือ อาหารของกินและของขบเคี้ยวเต็มครัวหรือล้นไปถึงห้องเก็บของหรือห้องใต้ดิน หรือ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่าง ๆ เต็มห้องเก็บของหรือห้องใต้ดินเช่นกัน?

ตามข้อมูลของสมาพันธ์ค้าปลีก (HDE) ในครึ่งปีแรก 2020 ธุรกิจเสื้อผ้ายอดขายหดไป 30% ธุรกิจของเล่นและเครื่องประดับยอดขายหดไป 15%

ในขณะเดียวกันแถวลูกค้ายืนรอหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างกลับยาวเหยียด พากันซื้ออย่างกับแจกฟรี สินค้าบางอย่างเกลี้ยงชั้นวางเพราะซื้อไปตุนจากการกลัวว่าสินค้าจะขนาดตลาด คิดว่าหลายคนที่เข้ามาอ่านโพสต์นี้เคยยืนเข้าคิวรอกันมาแล้ว คิวจะยาวแค่ไหนหรือจะหนาวเหน็บเพียงใด ต่างก็อดทนยืนรอคิวกันได้ เช่น ที่หน้าร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างหรือร้านเฟอร์นิเจอร์อย่าง IKEA เพราะอยากได้ของมาทำหรือตกแต่งบ้านให้น่าอยู่หมกตัวหนีโควิด

ฟิตเนสสตูดิโอปิด ชมรมสมาคมกีฬาต่าง ๆ ก็ปิด ไม่มีที่ออกกำลังกายถ่ายเทพลังงานเผาผลาญไขมัน ต้องหันเหหาทางออก เช่น การออกไปปั่นจักรยาน ส่งผลด้านบวกทำให้ยอดขายของร้านค้าจักรยานเพิ่มขึ้น 28% (สมาพันธ์ค้าปลีก)

พฤติกรรมในการซื้อของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะร้านค้าปลีกถูกสั่งให้ปิด จะไปเดินเป็นพระยาน้อยชมตลาดจับต้องลองของจริงก็ไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาชมและใช้เมาส์คลิกหรือนิ้วกดซื้อของที่ต้องการผ่านร้านค้าออนไลน์กัน ตามข้อมูลของสมาพันธ์ค้าปลีกยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบ 20%  พฤติกรรมอันหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือคนหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมากขึ้น ซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์มากขึ้น และที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็นคือมากดกริ่งขายผักผลไม้ตามบ้าน บริการขายตรงให้ลูกค้าที่ถูกจำกัดการติดต่อและไม่ต้องการออกไปปะปนกับผู้คนตามซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่จำเป็น

ถ้าวิกฤติโควิดยังไม่หายไปไหน เทรนด์เหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป ผู้คนจะปรับตัวได้ดีขึ้น จะหันมาใช้ดิจิตอลมากขึ้น — จุดนี้น่าจะเป็นแรงผลักให้ภาครัฐเร่งรีบพัฒนาด้านดิจิตอลซึ่งเยอรมนียังถือว่าล้าหลังกว่าเพื่อน ๆ ในอียู — ผู้คนรู้สำนึกและสำเหนียกในความยั่งยืนมากขึ้น การที่ถูกจำกัดการติดต่อทำให้คนรู้คุณค่ากับความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น สำหรับคนส่วนใหญ่การบริโภคผ่านระบบออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องปกติ แม้แต่เรื่องการออกกำลังกายก็สามารถทำออนไลน์ได้ มีคอร์สต่าง ๆ ให้เลือกซื้อหรือเข้าร่วมฟรี หรือ จะนัดแนะออกกำลังกายกับเพื่อนฝูงผ่าน Zoom หรือ แพลตฟอร์ม Meeting อื่น ๆ ก็ได้

แต่เทรนด์ออนไลน์เหล่านี้จะทำให้ร้านค้าปลีกในเมืองซบเซาซึ่งสมาพันธ์ค้าปลีกประเมินว่า 3 ใน 4 ของร้านค้าปลีกในเมืองจะประสบกับปัญหาอย่างหนักถึงกับเลิกกิจการเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีเทรนด์ Click & Collect ที่ร้านค้าปลีกออนไลน์จัดไว้บริการลูกค้าให้สั่งซื้อออนไลน์แล้วไปรับสินค้าที่สาขาในเมืองกำลังได้รับความนิยม อาจเป็นความหวังหนึ่งที่จะทำให้ร้านค้าในเมืองไม่“ตาย” แต่เราก็จะเห็นรถส่งของวิ่งตามถนนเพิ่มมากขึ้น

โดยสรุปแล้วสำนักงานสถิติสหพันธ์ประเมินว่ายอดขายของธุรกิจค้าปลีกในปี 2020 (ไม่รวมยานยนต์) เพิ่มขึ้นระหว่าง 3.9-4.3% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019


ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม

เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิดเช่นกัน นอกจากลูกค้าประจำจะหายไปแล้ว ลูกค้าขาจรที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจจากทั่วโลกก็หายไปด้วย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติสหพันธ์ ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม (hospilality business) มีรายได้ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2020 หด 32.9% (ร้านอาหาร -28.5% โรงแรม 38.4%) ถ้าดูเฉพาะเดือนเมษายน 2020 หดไปสูงสุดเพราะ Shutdown 75.2% (ร้านอาหาร -67.8% โรงแรม 88.6%) ช่วงซัมเมอร์ระหว่างพฤษภาคม-สิงหาคม 2020 ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น แต่ความหวังว่าจะกระเตื้องฟื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ อีกในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ กลับมาพังทลายเมื่อรัฐมีมาตรการ Lockdown Light ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน และเริ่ม Shutdown เมื่อกลางเดือนธันวาคมจนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งปี 2020 คาดว่าจะหดประมาณ 51%

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างก็ยื่นคำขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในรูป Kurzarbeit และเครดิตเร่งด่วนเพื่อประคับประคองตัวเองไม่ให้ซวนเซหรือล้มละลาย แต่เห็นว่ามาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เพียงพอที่จะฝ่าวิกฤติไปได้ จึงจำเป็นต้องหาทางออกอื่น เช่น ชะลอการลงทุนไปก่อน หรือ ปิดกิจการไปเลย

ถ้าว่ากันตามคติ “เมื่อเส้นวิกฤติมันดิ่งตกลงมาเต็มที่แล้ว มันจะหันหัวกลับมาไต่ขึ้นใหม่” อนาคตของธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมก็จะน่าจะกลับมาดีเหมือนเดิมหลังจากผ่านพ้นวิกฤติไป อย่างในกลุ่มร้านขายเครื่องดื่ม เช่น บาร์หรือผับ หากเลือกตัดสินใจปิดกิจการไปก่อน ก็สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว


ธุรกิจการบิน

วิกฤติโควิดทำเอาอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกแทบแน่นิ่งไปเลย ช่วงคลื่นระบาดรอบแรกหลายคนคงเห็นรูปภาพเครื่องบินจอดเรียงกันเป็นตับสวยงามตามสนามบินต่าง ๆ โดยไม่รู้ว่าจะกลับมาขึ้นบินได้ครบปกติอีกเมื่อใด เครื่องบินบางรุ่นอาจจะถูกปลดประจำการถาวรไปเลย เช่น A380 ของ Lufthansa

ช่วงคลื่นระบาดรอบแรกนั้น จำนวนผู้โดยสารทั่วโลกลดลงเกือบ 80% เครื่องบินเกือบ 2 ใน 3 ต้องหยุดบิน หลังจากที่รัฐได้ผ่อนคลายมาตรการ Shutdown ครั้งแรก ก็คาดกันว่าธุรกิจการบินในยุโรปจะค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ก็ต้องมาชะงักเพราะมาตรการ Shutdown ครั้งที่สอง หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในจำนวนหลักพันล้านยูโร สายการบินหลายเจ้าคงล้มละลายไปแล้ว

ตามข้อมูลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดว่าจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2020 ลดลงประมาณ 60%

สำหรับปีนี้นั้น สายการบินต่าง ๆ ไม่ได้ตั้งความหวังไว้ที่วัคซีนอย่างเดียว ได้พยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดไปด้วย เช่น โดยการใช้ชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็วเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากเที่ยวบิน ให้ผู้โดยสารที่ไม่ติดเชื้อเดินทางถึงจุดหมายโดยไม่ต้องกักตัวหรือถูกห้ามเข้าประเทศ แต่ชุดตรวจแบบเร่งด่วนนี้ให้ผลไม่แม่นยำเสมอไป อีกอย่างคือต้องดูด้วยว่าประเทศปลายทางตั้งกฎเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศไว้อย่างไรด้วย เช่น ประเทศไทยที่กำหนดให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน แม้ว่าจะมีหลักฐานว่าไม่ติดเชื้อโควิดก็ตาม ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ „ความอยากเดินทาง” ลดลง

ในส่วนของ Lufthansa Group นั้น ระหว่างมกราคม-กันยายน 2020 มีจำนวนผู้โดยสาร 32.2 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2019 ในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 71.2% ถึงแม้ว่า Lufthansa จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ แต่มีรายจ่ายประจำทุกเดือนในขณะที่รายได้ลดลง ทำให้จนถึงสิ้นปี 2020 ต้องเลิกจ้างพนักงานเกือบ 29,000 ตำแหน่ง ปีนี้คาดว่าจะเลิกจ้างอีกประมาณ 10,000 ตำแหน่ง 


ธุรกิจท่องเที่ยว

ธุรกิจท่องเที่ยวเกี่ยวพันไปถึงธุรกิจการบินและธุรกิจโรงแรมและที่พัก ทุกคนต่างก็ตั้งความหวังไว้ที่วัคซีน คาดว่าถ้ารัฐผ่อนคลายมาตรการ Shutdown ไม่จำกัดการเดินทางเมื่อใด ผู้คนน่าจะรีบจองทัวร์ไปเที่ยวกันทันที

ในช่วงแรกเริ่มของการระบาดนั้น รายชื่อพื้นที่เสี่ยงที่ประกาศโดยสถาบัน Robert-Koch มีเพียงไม่กี่ประเทศไม่กี่พื้นที่ แต่ยิ่งนานไปเท่าใด รายชื่อพื้นที่เสี่ยงก็ยาวตามไปด้วย จนถึงขนาดว่าภายในเยอรมนีเองแทบจะกระดิกตัวไปไหนไม่ได้กันเลยทีเดียว

ตามข้อมูลล่าสุดขององค์กรท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) สถิตินักท่องเที่ยวทั่วโลกระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2020 ลดลง 900 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2019 ในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดการสูญเสียรายได้ จำนวน 935,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าการสูญเสียจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2009 กว่าสิบเท่า ทั้งปี 2020 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะลดลง 70-75% และจะสูญเสียรายได้รวม 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การสูญเสียรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกเนื่องจากวิกฤตินี้จะทำให้เกิดการสูญเสียในผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในเยอรมนีนั้น ตามสถิติของสำนักงานสถิติสหพันธ์มีสถิติแขกเข้าพักระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2020 จำนวน 295.4 ล้านคืน (เก็บสถิติเฉพาะที่พักที่มีจำนวนเตียงอย่างน้อย 10 เตียง) เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ลดลง 36.4%) แยกเป็นการจากในประเทศจำนวน 264.1 ล้านคืน ลดลง 30.7% และจากต่างประเทศ 31.3 ล้านคืน ลดลง 62.5% สำนักงานสถิติฯ ประมาณการว่าทั้งปี 2020 มีสถิติแขกเข้าพักจำนวน 299 ล้านคืน ลดลงจากปีที่แล้ว 40% หากประมาณการรวมสถิติในเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งมีสถานการณ์ Shutdown คล้ายเดือนเมษายน 2020 คาดว่าจำนวนแขกเข้าพักทั้งปี 2020 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงระดับต่ำสุดในปี 1992 คือ 318.4 ล้านคืน

เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น วัคซีนมีประสิทธิภาพดี เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และ รัฐผ่อนคลายมาตรการ Shutdown เมื่อใด ธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างธุรกิจการบินจะกลับมาเป็นปกติในระดับเดียวก่อนเกิดวิกฤติโควิดในปี 2024


อุตสาหกรรมยานยนต์

ทุกคนต่างก็คิดกันว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมันน่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดหนัก ต้องขอบคุณที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีข้อได้เปรียบที่สำคัญอันหนึ่งคือความเป็นนานาชาติ นอกจากแบรนด์เยอรมันจะเป็นที่นิยมกันทั่วโลกแล้ว แบรนด์เยอรมันยังมีฐานผลิตกระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะฐานผลิตในจีนที่ยังช่วยสร้างกำไรให้อุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมันถึงแม้ทั่วโลกจะผจญกับวิกฤติก็ตาม แต่รายได้ที่เกิดขึ้นจะเพียงพอสำหรับการพัฒนาเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีหรือไม่?

แบรนด์ใหญ่อย่าง Volkswagen, BMW และ Daimler อาจจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่จีนที่ฟื้นตัว ซึ่งยอดขายกลับมาเป็นปกติ แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กและขนาดย่อมคือผู้แพ้ในวิกฤติครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนที่โฟกัสเพียงตลาดท้องถิ่นเป็นหลัก มาตรการ Shutdown ครั้งแรกทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้เสียรายได้ไปมากส่งผลให้ขาดเงินลงทุนสำหรับปี 2021 นี้

สำหรับยอดขายในยุโรปนั้นยังคงไม่กลับมาเป็นปกติ ตามข้อมูลของสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์ (VDA) ยอดขายในเดือนตุลาคม 2020 ลดลง 30% เมื่อเปรียบเทียบเดือนตุลาคม 2019 จนถึงสิ้นปี 2020 ยอดขายก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นมา

นอกจากนี้แล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเตรียมเงินทุนไว้ปรับเปลี่ยนและพัฒนารถยนต์เพื่อรองรับนโยบาย E-Mobility (ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า) หากใครไม่ปรับตัวตาม อาจจะเสียและพลาดโอกาสเช่นเดียวกับกรณี Nokia ก็เป็นได้ จึงเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสร้างกำไรน้อยกว่าดึงยอดรายได้ต่ำลงไปด้วย หลายตลาดก็ยังคงซบเซาต่อไป ประกอบกับการเริ่มต้นลงทุนใหม่ในเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซอฟต์แวร์ ระบบแบตเตอรี่ หรือระบบ Autopilot จะใช้เงินจำนวนสูงมาก เหตุผลเหล่านี้จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เป็นที่สนใจต่อนักลงทุนซึ่งต้องการเห็นผลกำไรโดยเร็ว สู้พวกเขาเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ได้กำไรงามและเร็วอย่างพวก Start-up ในธุรกิจ IT ไม่ดีกว่าหรือ?

สถิติเกี่ยวกับรถยนต์ส่วนบุคคล (สมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์) 

2020จำนวน (คัน)เปรียบเทียบกับปี 2019
จดทะเบียนรถใหม่2,917,700-0.19
แบ่งเป็น
ยี่ห้อเยอรมันและบริษัทในเครือ2,017,500-0.20
ยี่ห้อต่างชาติ900,100-0.16
ส่งออก2,633,100-0.24
กำลังผลิต3,508,500-0.25

ธุรกิจธนาคาร

ปีที่ผ่านมาธุรกิจธนาคารจะสดใสกว่าธุรกิจสาขาอื่นได้อย่างไร แต่วิกฤติคราวนี้ดีอย่างคือไม่ใช่วิกฤติที่ธนาคารทำกันเองเหมือนที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในรูปเครดิตดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐการันตีสูงถึง 100% และเงินช่วยค่าแรงในรูป Kurzarbeitgeld (เงินช่วยเนื่องจากลดชั่วโมงการทำงานลง) เพื่อรักษางานเอาไว้ เป็นมาตรการที่ธนาคารต่าง ๆ ได้ผลประโยชน์ทางอ้อมคือช่วยอุ้มผู้ประกอบการซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคาร แต่ปีนี้ธุรกิจธนาคารต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับการผิดนัดชำระหนี้และต้องเตรียมมาตรการไว้รองรับความเป็นไปได้ว่าจะเกิดคลื่นการล้มละลายของลูกหนี้และการกู้ก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารต้องไปดึงเงินเงินทุนสำรองของตัวเองออกมาใช้ และท้ายสุดอาจจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินในวงรวม ในขณะนี้ก็มีข่าวลือออกมาแล้วว่าในระดับอียูอาจจะมีการตั้งธนาคารรัฐ “Bad Bank” เพื่อรับซื้อหนี้เสียจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ   

ในส่วนของการลงทุนทางการเงินนั้น ตามข้อมูลของสมาพันธ์ธนาคาร (Bankenverband) ปี 2020 ถือว่าเป็นปีที่ดีของนักลงทุนแม้จะมีวิกฤติโควิดก็ตาม จนถึงสิ้นปี 2020 มีชาวเยอรมันร้อยละ 53 ลงทุนทางการเงิน (ปี 2019 ร้อยละ 46)  โดยมีการลงทุนเพิ่มในทุกกลุ่มอายุ ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 30-40 ปี เพิ่มมากเป็นพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 กลุ่มสินค้าทุนทางการเงินที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษห้าอันดับแรกในปี 2020 คือ กองทุน บัญชี/ฝากสะสมทรัพย์ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และตลาดเครดิตระยะสั้น สำหรับเทรนด์ในปี 2021 นี้ นักลงทุนและบุคคลทั่วไปน่าจะสนใจการลงทุนทางการเงินที่มีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น โดยน่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และพันธบัตรที่มีดอกเบี้ยตายตัว


อุตสาหกรรมยาและไบโอเทคโนโลยี

ในห้วงวิกฤติโควิดธุรกิจสาขาหนึ่งที่สร้างข่าวดีให้กับสังคมทั้งโลกคืออุตสาหกรรมยาและไบโอเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดเป็นผลสำเร็จสร้างความหวังให้กับคนทั้งโลก เป็นหลักไมล์ให้ทั้งกับบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนเองและเป็นหลักไมล์ในทางวิชาการสากล

เยอรมนีถือว่ามีชื่อเสียงในด้านเคมีและยาประเทศหนึ่ง แต่ในรายชื่อบริษัทยาใหญ่ ๆ ระดับโลก 10 อันดับแรกไม่มีบริษัทเยอรมันแม้แต่บริษัทเดียว ในอดีตที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาโดยเฉพาะไบโอเทคโนโลยีไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร เป็นที่รู้กันดีในแวดวงนักธุรกิจว่าอุตสาหกรรมยาเยอรมันถูกพวกธนาคารและนักลงทุนมองอย่างเย้ยหยันและเมินเฉย ท่าทีนี้น่าจะเปลี่ยนไปแล้วนับตั้งแต่มีข่าวว่าบริษัท BioNTech สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก บริษัท BioNTech เป็นบริษัทด้านไบโอเทคโนโลยีเน้นการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเฉพาะเจาะจง ตั้งอยู่ที่เมืองไมนซ์ รัฐไรน์ลันด์-พฟลัลซ์ ซึ่งรัฐนี้จะมักจะถูกมองด้วยความเอ็นดูแกมขบขันว่าเป็น “รัฐชนบท”

วิกฤติโควิดเบิกตาให้กับรัฐมองเห็นความสำคัญของไบโอเทคโนโลยี โดยรัฐให้การส่งเสริมบริษัท BioNTech และร่วมทุนจำนวน 300 ล้านยูโรกับบริษัท CureVac จากเมืองทือบิงเงน (Tübingen) ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดเช่นกัน การส่งเสริมธุรกิจไบโอเทคโนโลยีและการเข้าไปร่วมทุนของรัฐนี้ไม่ใช่เพียงการแสดงท่าทีของรัฐในเชิงสัญลักษณ์ที่ได้รับแรงผลักดันแบบตกกระไดพลอยโจนมาจากวิกฤติโควิด น่าจะถือว่าเป็นการแสดงนโยบายด้านอุตสาหกรรมให้เห็นเป็นตัวอย่างในเบื้องต้น โดยหวังว่าจะช่วยดึงดูดใจให้นักลงทุนเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะการวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยีซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มการวิจัยและทดลองจนกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ กว่าจะออกดอกออกผลใช้เวลานานไม่เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนที่หวังเกร็งกำไรระยะสั้น น่าจะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่กล้าเสี่ยงมากกว่า และรัฐควรคงการลงทุนในธุรกิจนี้ไว้เพื่อจะได้มีปากมีเสียง เพราะการพัฒนาและผลิตยาที่มีความจำเป็นและเป็นความหวังต่อมนุษย์อย่างวัคซีนป้องกันโควิดไม่ควรอยู่ในกำมือของทุนนิยมที่หวังแต่กำไรสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว

สองบริษัทจากเมืองเล็กอย่างไมนซ์และทือบิงเงนซึ่งผลงานและมูลค่าของบริษัทไม่ได้เล็กตามเมืองที่ตั้งถือว่าเป็นหัวหอกทำให้เกิดแพลตฟอร์มวิจัยเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยดึงดูดใจให้เกิดการลงทุนในด้านนี้มากยิ่งขึ้น และบริษัทรุ่นแรกอย่าง BioNTech และ CureVac สามารถพัฒนาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกได้ ซึ่งขณะนี้ BioNTech ได้ชื่อว่า “บริษัทแห่งชั่วโมงนี้” พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองจากบริษัทวิจัยและพัฒนายาเป็นบริษัทผู้ผลิตยาด้วย เพราะความต้องการวัคซีนของบริษัทสูงมาก ซึ่งปัจจุบันการผลิตโดยพาร์ทเนอร์ผลิตได้ไม่ทันความต้องการ สุดท้ายแล้วบริษัทอาจจำเป็นต้องสร้างฐานผลิตวัคซีนเอง เพราะนอกจากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดได้สำเร็จแล้ว บริษัทก็ไม่ได้เลิกการพัฒนายารักษายารักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดแต่อย่างใดซึ่งส่วนหนึ่งของยาดังกล่าวกำลังอยู่ในระยะการทดลองทางคลินิก นอกจากนี้แล้วบริษัทยังมีโครงการพัฒนายาต้านไข้หวัดใหญ่ ยาต้านเชื้อ HIV ยาต้านเชื้อวัณโรค และโรคที่พบไม่บ่อยอีกด้วย รายได้จากธุรกิจวัคซีนป้องกันโควิดนอกจากจะเป็นดอกผลกำไรแล้วยังเป็นเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงการอื่น ๆ อีกด้วย


โลจิสติกส์และขนส่ง

ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจขนาดใหญ่รองลงมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจค้าปลีก ตามข้อมูลของสหภาพโลจิสติกส์ (BVL) ธุรกิจโลจิสติกส์ทำรายได้ปี 2019 ประมาณ 279,000 ล้านยูโร ธุรกิจโลติสติกส์เยอรมันมีสัดส่วนในตลาดโลจิสติกส์อียูเกือบ 1 ใน 4 เพราะนอกจากจะตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ดีคืออยู่ใจกลางทวีปยุโรปแล้ว เยอรมนียังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ จากวิกฤติโควิดคาดว่าปี 2020 ธุรกิจโลจิสติกส์จะมีรายได้ประมาณ 265,000 ล้านยูโร ลดลงจากปี 2019

สำหรับในปี 2021 นั้น ธุรกิจโลจิสติกส์น่าจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ธุรกิจสาขาอื่นฝากความหวังไว้กับวัคซีน แต่จะต้องประสบกับภาระและกฎเกณฑ์ด้านศุลกากรที่เกิดจาก Brexit สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างอียูกับอังกฤษ

นอกจากจะขนส่งสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดตามปกติแล้ว ในส่วนของสินค้าที่มีความต้องการน้อยลงเพราะโควิด ก็เกิดการขนส่งสินค้าตัวอื่นขึ้นมาแทน ในช่วงเริ่มต้นวิกฤติโควิดปี 2020 ก็เป็นการขนส่งหน้ากากและชุดป้องกัน สำหรับปี 2021 ก็คือวัคซีนป้องกันโควิดที่เป็นที่ต้องการทั่วโลกซึ่งต้องใช้บริษัทโลจิสติกส์ขนส่งวัคซีนจำนวนมากและต้องคิดหาวิธีการขนส่งวัคซีนที่ต้องขนส่งภายใต้อุณหภูมิ -70 องศาส่งไปจนถึงวันที่ฉีดให้ประชาชน เช่น วัคซีนของบริษัท BioNTech ถือเป็นลู่ทางธุรกิจใหม่


การรถไฟ

ถ้าไม่พูดถึง Deutsche Bahn ก็คงไม่ครบถ้วนกระบวนความ Deutsche Bahn รัฐบาลสหพันธ์เป็นเจ้าของเต็มร้อย บริหารงานในรูปบริษัทมหาชน ก่อนเกิดวิกฤติโควิดนั้น เดิม Deutsche Bahn ก็ประสบปัญหาจากการประกอบการขาดทุนอยู่แล้ว ซึ่งในเบื้องต้นรัฐบาลสหพันธ์รับปากว่าจะช่วยปลดหนี้สินจำนวน 50,000 ล้านยูโร แต่วิกฤติโควิดทำให้ Deutsche Bahn มียอดหนี้สินและยอดความเสียหายรวมเป็น 82,000 ล้านยูโร และมาตรการ Shutdown ครั้งที่สองทำให้ยอดความเสียหายของ Deutsche Bahn เพิ่มขึ้นเป็น 96,000 ยูโร เพราะถึงจำนวนผู้โดยสารจะลดลงจากมาตรการ แต่รถไฟก็ยังต้องออกวิ่งตามตาราง เกิดรายจ่ายมากกว่ารายรับ

ปี 2021 นี้ ก็น่าจะยังเป็นปีที่ไม่มั่นคงสำหรับ Deutsche Bahn ด้วยเหตุว่ารัฐบาลสหพันธ์ยังไม่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือให้ได้ เพราะคณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่อนุมัติเนื่องจากมีบริษัทรถไฟเอกชนยื่นคัดค้านที่ Deutsche Bahn ได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากรัฐ Deutsche Bahn จึงต้องไปกู้เงินในตลาดเงินทั่วไป ซึ่งคือการสร้างหนี้เพิ่มนั่นเอง และผู้บริหารของ Deutsche Bahn ไม่ต้องกุมขมับและกังวลเรื่องสร้างหนี้ใหม่ เพราะมีรัฐบาลสหพันธ์เป็นคนการันตี

โดยรวมแล้วคงต้องยอมรับกันว่า Deutsche Bahn อาจจะประกอบการติดลบไปเรื่อย ๆ ด้วยหลายสาเหตุหากไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง หนึ่ง) มีบริษัทลูกมากมาย 579 บริษัท แบ่งกันดูแลธุรกิจและงานแต่ละด้าน เช่น Fernverkehr AG ดูแลและบริหารการเดินรถ DB Station & Service AG ดูแลและบริหารสถานีรถไฟ DB Fahrzeuginstandhaltung ดูแลการบำรุงรักษา DB Netz ดูแลเรื่องระบบราง เป็นต้น ทำให้อืดอาดทั้งจากความเยอะและจากวัฒนธรรมองค์กรโดยรวมแบบกึ่งราชการ บริษัทลูกบางบริษัทก็ประกอบการได้ดี แต่หลายบริษัทประกอบการติดลบตลอด รวมตัวเลขแดงของแต่ละบริษัทเหล่านี้ออกมาเป็นหนี้ก้อนโต ทางแก้ปัญหาคือปรับโครงสร้างและ”ลดหุ่น“ รวมศูนย์งานเพื่อความคล่องตัว ลงทุนในด้านดิจิตอลมากขึ้น สอง) ควรเปิดให้เอกชนเข้ามาเดินรถไฟทางไกลเพื่อกระตุ้นการแข่งขัน เปิดทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ซึ่ง Deutsche Bahn ก็ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาบริการในรถไฟท้องถิ่นแล้ว ทำให้ตลาดรถไฟท้องถิ่นคึกคักขึ้นมา และ สาม) ฝ่ายการเมืองมีส่วนในปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Deutsche Bahn เพราะให้ความสำคัญกับรถยนต์และเครื่องบินก่อนรถไฟ การปรับปรุงและทำนุบำรุงระบบรางไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร เปรียบเทียบการลงทุนในระบบรางในปี 2019 ภายในยุโรปตะวันกลางและยุโรปตะวันตก เยอรมนีรั้งอันดับท้าย ๆ โดยลงทุนในระบบรางเฉลี่ย 76 ยูโรต่อหัวประชากร เดนมาร์ก 148 ยูโร เนเธอร์แลนด์ 133 ยูโร สวิตเซอร์แลนด์ 404 ยูโร ลักเซมเบิร์ก(สูงสุด) 448 ยูโร แม้แต่อิตาลียังลงทุนมากกว่าเยอรมนีจำนวน 93 ยูโรต่อหัวประชากร

กราฟแสดงสัดส่วนการลงทุนในระบบรางรถไฟต่อหัวประชากรปี 2019

รถไฟเยอรมันถูกทำให้อ่อนแอ แทนที่จะทำให้แข็งแรงและน่าสนใจโดยการขายตั๋วราคายอมเยาสร้างแรงดึงดูดใจและแข่งกับสายการบินโลว์คอสต์ มีบริการเสริมต่าง ๆ เช่น ระบบ WIFI ฟรีทั่วถึงและเร็ว พัฒนาและปรับปรุงบริเวณที่พักผู้โดยสาร เป็นต้น รวมไปถึงลงทุนในระบบรางเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้รถไฟต้องหยุดวิ่งหรือมาช้าก็เนื่องจากเหตุขัดข้องทางเทคนิคที่เกิดกับระบบรางนั้นเอง ฝ่ายการเมืองกลับสนับสนุนการบินเกิดสายการบินราคาประหยัดมาแข่งกับรถไฟและการขยายเครือข่ายทางด่วนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ขวัญใจของฝ่ายการเมือง จึงควรแก้ปัญหาที่นโยบายต้นทางมากกว่ามาแก้ปัญหาปลายทางโดยใช้เงินภาษีอุดหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายสองเด้งคือหนึ่งผ่านตั๋วราคาแพงและสองผ่านภาษี

เปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนในเครือข่ายรางรถไฟกับเครือข่ายถนน เยอรมนีลงทุนในเครือข่ายรางรถไฟน้อยกว่าเครือข่ายถนน

ตัวเลขเศรษฐกิจโดยสรุป

(ข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานสหพันธ์)

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 กระทรวงฯ ได้แก้ไข GPD ปี 2020 เป็นติดลบ 5.0%

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (ณ ราคาที่แท้จริง)2019 (%)2020 (%)2021 (%)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ0.6-5.5*
4.4
การอุปโภคบริโภคของครัวเรือน (รวมองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร)1.6-6.94.5
การอุปโภคของรัฐ2.64.70.8
การลงทุนในเครื่องจักร/อุปกรณ์ อาคารสถานที่ และ facilities2.5-3.84.8
การส่งออก1.0-10.37.1
การนำเข้า2.6-7.16.0
ดัชนีผู้บริโภค1.30.51.3
อัตราว่างงาน2.32.72.6

อ้างอิง

Photo: t-online.de